วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย



            การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย คือ ช่วงอายุ แรกเกิด – 6 ปี เพราะการพัฒนาสมองของเด็กในวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ ครูควรจะจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย เด็กในวัยนี้จะมีการเรียนรู้ผ่านการเล่น ครูจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก โดยผ่านการเล่น เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการที่เหมาะสม เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพทางสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมองจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการทำงานของสมอง และการทำงานให้ประสานสัมพันธ์กันของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา ดังนี้
สมองซีกซ้ายจะควบคุมความมีเหตุผลเป็นการเรียนด้านภาษา จำนวนตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิดวิเคราะห์
สมองซีกขวาจะควบคุมด้านศิลปะ จินตนาการ ดนตรี ระยะ มิติ ความคิดสร้างสรรค์
ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้ใช้ความคิด โดยผสมผสานความสามารถของการใช้สมอง ทั้งสองซีกเข้าด้วยกันเพื่อให้มองทั้งสองซีกเสริมส่งซึ่งกันและกัน เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ดี เป็นผลงานที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถแสดงความมีเหตุผลในผลงานชิ้นเดียวกัน
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
1.การเคลื่อนไหวของร่างกาย การเดิน การยืน การวิ่ง การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่าง ๆ การเคลื่อนไหวอยู่กับที่และการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่
2.การรู้จักหาเหตุผล ฝึกการสังเกต เปรียบเทียบ การจัดหมวดหมู่ของในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ขนาด ปริมาณ ตัวเลขต่าง ๆ
3.มิติสัมพันธ์ การที่เด็กได้สัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นของจริง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง การเข้าใจความสัมพันธ์ของระยะ ตำแหน่งและการมองเห็น การสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เด็กจะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
4.ภาษาและการสื่อสาร เป็นการใช้ภาษาสื่อสารโดยการปฏิบัติจริง จากการพูด การฟังการอ่านและการเขียน การพูด การฟังนิทาน เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น
5.ดนตรีและจังหวะ ให้เด็กได้รู้จักฟังดนตรีแยกแยะเสียงต่าง ๆ ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี เป็นการฝึกให้เด็กได้รู้จักจังหวะดนตรี
6.การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในด้านการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปันเข้าใจผู้อื่น เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ปฏิสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้และสติปัญญา

บทบาทของผู้ปกครองที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
1.เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
2. ให้เด็กได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่คิดและได้ลงมือกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง 3.ผู้ปกครองต้องรับฟังในสิ่งที่เด็กพูดด้วยความตั้งใจและพยายามเข้าใจเด็ก 4.ให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติเพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กได้กว้างมากขึ้น
การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยนั้น องค์ประกอบที่สำคัญ คือ อาหาร พันธุกรรม
สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ ให้เด็กได้มีโอกาสใช้ความคิดหลากหลายแบบ เช่น คิดแสวงหาความรู้ คิดวิเคราะห์ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผู้ปกครองและครูควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเหมาะสมกับวัย และมีความสุขที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆเพิ่มเติม เพื่อการพัฒนาสมองอย่างมีประสิทธิภาพ

การเคลื่อนไหวสำหรับเด็กปฐมวัย

    ธรรมชาติสำหรับเด็กปฐมวัย   เด็กจะเริ่มเรียนรู้และและฝึกหัดโดยตนเองตามธรรมชาติเด็กเล็ก ๆ  จะฝึกการยืน คลาน ก้าวเดิน และขึ้นบันได จนในที่สุด เด็กก็จะเดินได้ วิ่งได้ ตามธรรมชาติ  ทักษะที่จำเป็นในการเคลื่อนไหวร่างกายเมื่ออยู่กับที่และเมื่อเคลื่อนที่ออกจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  การเคลื่อนไหวระดับต่าง ๆ  เช่น สูง   ต่ำ

      ทักษะการเคลื่อนไหวยังสามารถพัฒนาการทั้ง 4  ด้านคือ

1.พัฒนาการทางด้านร่างกาย

2.พัฒนาการทางด้านอารมณ์

3.พัฒนาการทางด้านสังคม

4.พัฒนาการทางด้านสติปัญญา









หลักการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย

การจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย

การเรียนรู้ของเด็กควรเป็นการเรียนรู้โดยผ่านการเล่น เพราะเด็กในวัยนี้จะ ไม่จัดการเรียนรู้เป็นรายวิชา แต่จัดในรูปของกิจกรรมบูรณาการโดยผ่านการเล่น เพื่อให้เด็ก เกิดการเรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ตรง ได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งกิจกรรม ที่จัดขึ้นควรให้มีความยืดหยุ่นตามความคิดที่เด็กริเริ่ม สนใจและต้องการ

นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก ควรจะคำนึงถึงสาระการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 ส่วนที่เป็นประสบการณ์สำคัญ และส่วนที่ 2 ส่วนที่เป็นสาระที่ควรรู้ ซึ่งทั้งสองส่วนใช้เป็น สื่อในการจัดกิจกรรมให้เด็กเกิดพัฒนาการครบทุกด้าน และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งผู้เลี้ยงดูเด็กอาจจัดในลักษณะหน่วยการสอนแบบบูรณาการ หรือเลือกใช้วิธีการแบบใดก็ได้ที่สอดคล้องกับ ปรัชญาและหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย และต้องปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่พึงประสงค์ ตลอดจน ฝึกทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะทางสังคม ทักษะทางภาษา ทักษะทางการคิด เป็นต้น

ส่วนที่เป็นประสบการณ์สำคัญ

ประสบการณ์สำคัญเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเด็กทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ช่วยให้เด็กเกิดทักษะที่สำคัญสำหรับการสร้างองค์ความรู้ โดยให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ สิ่งของ บุคคลต่างๆ ที่อยู่รอบตัว รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมไปพร้อมกันด้วย ประสบการณ์สำคัญมีดังนี้

1.1 ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ได้แก่

1) การทรงตัวและการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อใหญ่

- การเคลื่อนไหวอยู่กับที่และการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่

- การเคลื่อนไหวพร้อมวัสดุอุปกรณ์

- การเล่นเครื่องเล่นสนาม

2) การประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อเล็ก

- การเล่นเครื่องเล่นสัมผัส

- การเขียนภาพและการเล่นกับสี

- การปั้นและประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ด้วยดินเหนียว ดินน้ำมัน แท่งไม้ เศษวัสดุ ฯลฯ

- การต่อของ บรรจุ เท และแยกชิ้นส่วน



1.2 ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ ได้แก่

1) ดนตรี

- การแสดงปฏิกริยาโต้ตอบเสียงดนตรี

- การเล่นเครื่องดนตรีง่ายๆ เช่น เครื่องดนตรีประเภทเคาะ ประเภทตี ฯลฯ

- การร้องเพลง

2) สุนทรียภาพ

- การชื่นชมและสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม

- การแสดงออกอย่างสนุกสนานกับเรื่องตลก ขำขัน และเรื่องราว/เหตุการณ์ที่สนุกสนาน ต่างๆ

3) การเล่น

- การเล่นอิสระ

- การเล่นรายบุคคล กลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่

- การเล่นในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

4) คุณธรรม จริยธรรม

- การปฏิบัติตนตามหลักศาสนาที่นับถือ

1.3 ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม ได้แก่ การเรียนรู้ทางสังคม

- การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตนเอง

- การเล่นและการทำงานร่วมกับผู้อื่น

- การวางแผน ตัดสินใจเลือก และลงมือปฏิบัติ

- การมีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึก ความสนใจและความต้องการของตนเองและผู้อื่น

- การมีประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

- การแก้ปัญหาในการเล่น

- การมีประสบการณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นไทย

1.4 ประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ได้แก่

1) การคิด

- การรู้จักสิ่งต่างๆ ด้วยการมอง ฟัง สัมผัส ชิมรส และดกลิ่น

- การเลียนแบบการกระทำและเสียงต่างๆ

- การเชื่อมโยงภาพ ภาพถ่าย และรูปแบบต่างๆ กับสิ่งของหรือสถานที่จริง

- การรับรู้และแสดงความรู้สึกผ่านสื่อ วัสดุ ของเล่นและผลงาน

- การแสดงความคิดสร้างสรรค์ผ่านสื่อวัสดุต่างๆ

2) การใช้ภาษา

- การแสดงความรู้สึกด้วยคำพูด

- การพูดกับผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง หรือเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง

- การอธิบายเกี่ยวกับสิ่งของ เหตุการณ์และความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ

- การฟังเรื่องราวนิทาน คำคล้องจองคำกลอน

- การเขียนในหลายรูปแบบผ่านประสบการณ์ที่สื่อความหมายต่อเด็ก เขียนภาพ เขียนขีดเขี่ย เขียนคล้ายตัวอักษร เขียนเหมือนสัญลักษณ์ เขียนชื่อตนเอง

- การอ่านในหลายรูปแบบผ่านประสบการณ์ที่สื่อความหมายต่อเด็ก อ่านภาพหรือ สัญลักษณ์จากหนังสือนิทาน/เรื่องราวที่สนใจ

3) การสังเกต การจำแนก และการเปรียบเทียบ

- การสำรวจและอธิบายความเหมือนความต่างของสิ่งต่างๆ

- การจับคู่ กาาจำแนก และการจัดกลุ่ม

- การเปรียบเทียบ เช่น ยาว/สั้น ขรุขระ/เรียบ ฯลฯ

- การเรียงลำดับสิ่งต่างๆ

- การคาดคะเนสิ่งต่างๆ

- การตั้งสมมติฐาน

- การทดลองสิ่งต่างๆ

- การสืบค้นข้อมูล

- การใช้หรืออธิบายสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย

4) จำนวน

- การเปรียบเทียบจำนวน มากกว่า น้อยกว่าเท่ากัน

- การนับสิ่งต่างๆ

- การจับคู่หนึ่งต่อหนึ่ง

- การมีประสบการณ์กับจำนวนหรือปริมาณที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง

5) มิติสัมพันธ์ (พื้นที่/ระยะ)

- การต่อเข้าด้วยกัน กายแยกออก การบรรจุและการเทออก

- การสังเกตสิ่งต่างๆ และสถานที่จากมุมมองที่ต่างๆ กัน

- การมีประสบการณ์และการอธิบายในเรื่องทิศทางการเคลื่อนที่ของคนและสิ่งต่างๆ

- การสื่อความหมายของมิติสัมพันธ์ด้วยภาพวาด ภาพถ่าย และรูปภาพ

6) เวลา

- การเริ่มต้นและการหยุดการกระทำโดยสัญญาณ

- การมีประสบการณ์และเปรียบเทียบเวลา เช่น ตอนเช้า ตอนเย็น เมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ ฯลฯ

- การมีประสบการณ์และและการเรียงลำดับเหตุการณ์ต่างๆ

- การสังเกตความเปลี่ยนแปลงของฤดู

ส่วนที่เป็นสาระที่ควรเรียนรู้

สาระที่ควรเรียนรู้ เป็นเรื่องราวรอบตัวเด็กที่นำมาเป็นสื่อในการจัดกิจกรรมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ไม่เน้นการท่องจำเนื้อหา ผู้สอนสามารถกำหนดรายละเอียดขึ้นเองให้สอดคล้องกับวัย ความต้องการ และความสนใจของเด็ก โดยให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่สำคัญที่ระบุไว้ข้างต้น ทั้งนี้อาจยืดหยุ่นเนื้อหาได้ โดยคำนึงถึงประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงของเด็ก สาระที่เด็กอายุ 3-5 ปี ควรเรียนรู้ มีดังนี้

1. เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด้ก เด็กควรรู้จักชื่อนามสกุล รูปร่าง หน้าตา รู้จักอวัยวะต่างๆ วิธีระวังรักษา ร่างกายให้สะอาด ปลอดภัย เรียนรู้ที่จะเล่นและทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองคนเดียว หรือกับผู้อื่น ตลอดจนเรียนรู้ที่จะ แสดงความคิดเห็น ความรู้สึก และแสดงมารยาทที่ดี

2. เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก เด็กควรได้มีโอกาสรู้จักและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน รวมทั้งบุคคลต่างๆ ที่เด็กต้องเกี่ยวข้องหรือมีโอกาสใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์ใน ชีวิตประจำวัน

3. ธรรมชาติรอบตัว เด็กควรจะได้เรียนรู้สิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ แวดล้อมเด็กตามธรรมชาติ เช่น ฤดูกาล กลางวัน กลางคืน ฯลฯ

4. สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก เด็กควรจะได้รู้จักสี ขนาดรูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก ผิวสัมผัสของสิ่งต่างๆ รอบตัว สิ่งของเครื่องใช้ ยานพาหนะ และการสื่อสารต่างๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน

การจัดประสบการณ์

การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3-5 ปี จะไม่จัดเป็นรายวิชา แต่จัดในรูปของกิจกรรม บูรณาการผ่านการเล่น เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เกิดความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งเกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยมีหลักการและแนวทาง การจัดประสบการณ์ ดังนี้

1. หลักการจัดประสบการณ์

1.1 จัดประสบการณ์เล่นและการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาเด็กโดยองค์รวมอย่างต่อเนื่อง

1.2 เน้นเด็กเป็นสำคัญ สนองความต้องการ ความสนใจ ความแตกต่างระหว่างบุคคลและบริบท ของสังคมที่เด็กอาศัยอยู่

1.3 จัดให้เด็กได้รับการพัฒนาโดยให้ความสำคัญทั้งกับกระบวนการและผลผลิต

1.4 จัดการประเมินพัฒนาการให้เป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของการจัด ประสบการณ์

1.5 ให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก

2. แนวทางการจัดประสบการณ์

2.1 จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับจิตวิทยาพัฒนาการ คือ เหมาะกับอายุ วุฒิภาวะ และระดับพัฒนาการ เพื่อให้เด็กทุกคนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ

2.2 จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ คือ เด็กได้ลงมือกระทำ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้เคลื่อนไหว สำรวจ เล่น สังเกต สืบค้น ทดลอง และคิดแก้ปัญญาด้วยตนเอง

2.3 จัดประสบการณ์ในรูปแบบบูรณาการ คือ บูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้

2.4 จัดประสบการณ์ให้เด็กได้ริเริ่มคิด วางแผน ตัดสินใจ ลงมือกระทำ และนำเสนอความคิด โดยผู้สอนเป็นผู้สนับสนุนอำนวยความสะดวกและเรียนรู้ร่วมกับเด็ก

2.5 จัดประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่น กับผู้ใหญ่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการ เรียนรู้ในบรรยากาศที่อบอุ่นมีความสุขและเรียนรู้การทำกิจกรรมแบบร่วมมือในลักษณะต่างๆ กัน

2.6 จัดประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ และแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายและ อยู่ใน วิถีชีวิตของเด็ก

2.7 จัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมลักษราะนิสัยที่ดีและทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนสอด แทรกคุณธรรม จริยธรรม ให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

2.8 จัดประสบการณ์ทั้งในลักษณะที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าและแผนที่เกิดขึ้นในสภาพจริง โดยไม่ได้คาดการณ์ไว้

2.9 ให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์ ทั้งการวางแผน การสนับสนุนสื่อการสอนการเข้าร่วมกิจกรรม และการประเมินพัฒนาการ

2.10 จัดทำสารนิทัศน์ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กเป็น รายบุคคล นำมาไตร่ตรองและใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กและการวิจัยในชั้นเรียน



(อ้างอิงมาจาก : หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ)

           ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า ในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยนั้น ผู้เลี้ยงดูเด็กควรจัดกิจกรรม ต่างๆ ในรูปการบูรณาการโดยผ่านการเล่น ไม่จัดแยกเป็นรายวิชา เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับประสบการณ์ตรง เกิดการเรียนรู้ ได้พัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องคำนึงถึงหลัก ในการจัดประสบการณ์โดยเน้นเด็กเป็นสำคัญ กิจกรรมที่จัดให้มีความสมดุลที่ให้เด็กได้ริเริ่มกิจกรรมและ ครูวางแผน กิจกรรมที่จัดในห้องเรียนและนอกห้องเรียน กิจกรรมเคลื่อนไหวและกิจกรรมสงบ กิจกรรมเดี่ยว กิจกรรมกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ นอกจากนี้ กิจกรรมที่จัดควรจะตอบสนองความต้องการ ความสนใจ ความ แตกต่างกันของเด็ก เน้นให้เห็นความสำคัญของกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลผลิต เปิดโอกาสให้ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมกันพัฒนาเด็ก และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการจัดประสบการณืให้กับเด็กปฐมวัย คือ การประเมินพัฒนาการซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงดูเด็กส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดอยู่ นักศึกษาจึงควรศึกษาทำ ความเข้าใจกับเรื่องการประเมินพัฒนาการเด็กในรายวิชาที่ 8 ให้เข้าใจ

อ้างอิงมาจาก : หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ)


ไม่มีความคิดเห็น: