วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของมวยไทย


ประวัติความเป็นมาของมวยไทย

มนุษย์รู้จักคำว่า ต่อสู้ตั้งแต่มนุษย์เริ่มเกิดลืมตามาดูโลก ต้องต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างรอบ ๆ ตัวเอง และแม้แต่กับตัวเองก็มิได้ละเว้นจะต้องสู้ กับธรรมชาติและภัยของธรรมชาติ สัตว์ป่าที่มุ่งร้ายหมายชีวิต หรือที่มนุษย์มุ่งจะเอาชีวิตเพื่อนำมาเป็นอาหารสำหรับยังชีวิต แต่ในบางครั้งมนุษย์ก็ต่อสู้กันเอง เพื่อสิทธิในการครอบครองเป็นเจ้าของ เพื่อเสรีภาพ เพื่อป้องกันตนเอง หรืออื่น ๆ การต่อสู้ดังกล่าวอาจจะต้องใช้กำลังกายกำลังใจ และกำลังความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

มนุษย์จะต่อสู้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็แล้วแต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการต่อสู้ ความอยู่รอดของชีวิตจากการต่อสู้ มนุษย์ก็ได้พยายามคิดค้นวิธีการต่อสู้ เพื่อป้องกันให้ถึงแก่ชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้น หรือเมื่อทั้งสองฝ่ายมีอาวุธคู่มือการทำร้ายกันก็ทำได้ลำบากต่างก็ต้องเกรงซึ่งกันและกัน มนุษย์ก็พยายามใช้ความคิดที่จะหาหนทางเอาชนะ เอาชีวิตของคู่ต่อสู้ให้ง่ายและรวดเร็ว ป้องกันชีวิตตนเองให้ปลอดภัยมากขึ้นพยายามคิดค้นศึกษา ทดลอง ดัดแปลงแก้ไขเพื่อหาแนวทางที่จะต่อสู้และป้องกันตัวทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ ทำให้เกิดศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวขึ้นมา

มนุษย์ได้พยายามคิดค้นการต่อสู้มือเปล่าเพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากสิ่งรอบข้าง โดยใช้อวัยวะของร่างกายเป็นอาวุธเข้าต่อสู้ เช่น มือและเท้า กำหนดระเบียบแบบแผนมีหลักเกณฑ์ในการต่อสู้สิ่งต่าง ๆ รวมกันเรียกว่า มวย

บรรพบุรุษมีความเฉลียวฉลาดในการคิดค้น ดัดแปลงและพลิกแพลงในการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น มือ, เท้า, เข่า, ศอก และศีรษะเข้าต่อสู้ป้องกัน ปิดป้องส่วนที่อ่อนแอของร่างกายได้เป็นอย่างดี วิธีการต่อสู้และป้องกันตนเองของไทย ซึ่งจะหาการต่อสู้ของชาติอื่นมาเทียบไม่ได้ การต่อสู้มือเปล่าของไทยเป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ประจำชาติ เรียกว่า มวยไทย

มวยไทยเป็นศิลปะของการต่อสู้ป้องกันตัวได้จริงสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในการต่อสู้และในการกีฬา ศิลปะประเภทนี้บรรพบุรุษ ของชาติไทยใช้อบรมสั่งสอนสืบทอดกันมาให้ดำรงอยู่ตลอดไป บรรดาชายฉกรรจ์จะได้รับการสั่งสอนฝึกฝนศิลปะประเภทนี้อย่างชัดเจนทั้งสิ้น การใช้อาวุธรบสมัยโบราณ เช่น กระบี่ กระบอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ นักรบไทยจะนำไปประกอบการต่อสู้ที่มีชั้นเชิงสูง เดิมมักจะฝึกสอน กันเฉพาะบรรดาเจ้านายชั้นสูงนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น ต่อมาจึงแพร่หลายไปถึงสามัญชน ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการ จากครูอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดทหารขุนพล ยอดนักรบของชาติมาแล้วได้ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิต พยายามถ่ายทอดวิทยาการให้แก่ศิษยานุศิษย์ และสืบเนื่องมาจากไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ครูอาจารย์ที่สอนอยู่ในเพศบรรพชิตจึงทำให้มวยไทยกับศาสนาพุทธมีความสัมพันธ์กันจนแยกไม่ออก ซึ่งจะสังเกตได้จากก่อนการชก นักมวยจะมีการไหว้ครู ร่ายมนต์คาถาตามร่างกายก็มีเครื่องรางของขลัง เช่น ผ้าประเจียดรัดแขน หรือ มงคลสวมศีรษะ เป็นต้น

มวยไทยเริ่มขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏ และไม่มีหนังสือเล่มใดเขียนไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่เท่าที่ได้ปรากฏนั้น มวยไทยได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และอาจเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับชาติไทยด้วยซ้ำ เพราะมวยไทยนั้นเป็นศิลปะประจำชาติของไทยจริงๆ ยากที่ชาติอื่นจะเลียนแบบได้

มวยไทยในสมัยก่อนจะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยได้มีการรบพุ่งและสู้รบกันกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อย ๆ การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืนจะสู้กันมีแต่ดาบทั้งสองมือและมือเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้การรบพุ่งก็ต้องมีการประชิดตัว คนไทยเห็นว่าการรบด้วยดาบนั้น เป็นการรบพุ่งที่ประชิดตัวมากเกินไป บางครั้งคู่ต่อสู้อาจจะเข้ามาฟันเราได้ง่ายขึ้น ทำให้แพ้คู่ต่อสู้ได้

ต่อมาเมื่อในหมู่ทหารได้รับการฝึกถีบ เตะแล้ว มีผู้คิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะใช้การถีบ และเตะนั้นมาเป็นศิลปะสำหรับการต่อสู้ด้วยมือได้ จึงได้มีผู้ที่คิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวสำหรับการใช้แสดงเวลามีงานเทศกาลต่าง ๆ ไว้อวดชาวบ้าน และเป็นของแปลกสำหรับชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้นาน เข้าชาวบ้านหรือคนไทยได้เห็นการถีบ-เตะอย่างแพร่หลายและบ่อยเข้า จึงทำให้ชาวบ้านมีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจนถึงกับตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมาย แต่สำนักที่ฝึกมวยไทยก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อดีมาก่อนและมีอาจารย์ดีไว้ฝึกสอน ดังนั้นมวยไทยสมัยนั้นจึงฝึกเพื่อมีความหมาย 2 อย่างคือ
1. เพื่อไว้สำหรับสู้รบข้าศึก
2. เพื่อไว้ต่อสู้ป้องกันตัว

อาณาจักรน่านเจ้า
พ.ศ.1291 พระเจ้าพีล่อโก๊ะ ได้รวบรวมอาณาจักรไทยขึ้น เรียกว่า อาณาจักรน่านเจ้า และมีกษัตริย์ที่เข้มแข็งปกครองอยู่นาน ไทยต้องทำสงครามกับจีนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เป็นมิตร บางครั้งก็เป็นศัตรูกัน ในสมัยนั้นมีการฝึกใช้อาวุธบนหลังม้า รู้จักใช้หอก ใช้ง้าว ในสมัยล้านนาไทยได้มีวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว และวิชาเจิ้ง (การต่อสู้แบบจีนชนิดหนึ่งคล้าย ๆ มวยจีน) การรบเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จะสังเกตเห็นว่าการต่อสู้ในสมัยนี้ส่วนมากจะใช้อาวุธ เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช การต่อสู้ด้วยมือเปล่าก็มีอยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะใช้ระยะประชิดตัว และนิยมการเลียนแบบจากจีน

สมัยกรุงสุโขทัย
พ.ศ. 1781 – 1921 ในสมัยสุโขทัยนี้การต่อสู้ด้วยมือเปล่าด้วยวิชามวยไทยก็มีใช้อยู่ในการต่อสู้กับข้าศึก ส่วนใหญ่ก็ยังใช้อาวุธชนิดต่าง ๆ เพื่อการกอบกู้ประเทศชาติ สถานที่ที่เป็นสำนัก

ประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยแบ่งออกเป็น
1. วัด จากครูอาจารย์ที่บวชเป็นพระภิกษุและมีฝีมือในการต่อสู้
2. บ้าน จากผู้มีความรู้เป็นผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยให้กุลบุตร กุลธิดาที่สนใจ 3. สำนักราชบัณฑิต ให้เรียนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว มีการใช้อาวุธบนหลังม้า ช้าง วัว ควาย

 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มวยไทยก็มีการฝึกฝนกันตามสำนักฝึกต่าง ๆ และมีการฝึกกันอย่างกว้างขวาง จนถึงสมัยกรุงเทพฯ ก็มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน เช่น เวทีสวนเจ้าเชษฐ์ และเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งการชกในสมัยนี้ก็ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนในตอนหลังนวมได้เข้ามาแพร่หลายในไทยการชกกันในสมัยหลัง ๆ จึงได้สวมนวมชกกัน แต่การชกก็ยังเหมือนเดิม คือยังใช้การถีบ เตะ ชก ศอก เข่า อยู่เช่นเดิมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

หลักเกณฑ์ในการจัดการแข่งขัน และกรรมการผู้ชี้ขาดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปหาหลักฐานไม่ได้ แต่พอจะจับเค้าโครงเรื่องนี้ได้ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา การแข่งขันชกมวยในสมัยต่าง ๆ ซึ่งนับว่าครึกโครมและมีผู้นิยมชมชอบมาก ซึ่งพอจะแยกกล่าวได้มีออยู่ 5 สมัยด้วยกัน คือ

1. สมัยสวนกุหลาบ ในสมัยนี้ประชาชนนิยมการชกมวย และชมการแข่งขันชกมวยกันเป็นจำนวนมาก การชกมวยกันในสมัยนี้ยังนิยมการคาดเชือกอยู่ การชกได้กำหนดจำนวนยกไว้แน่นอนแล้ว และมีกรรมการผู้ชี้ขาด ผู้ตัดสินส่วนมากนั่งอยู่ข้างเวที และให้อาณัติสัญญาณให้นักมวยหยุดชกด้วยเสียงหรือนกหวีด

2. สมัยท่าช้าง ในสมัยนี้เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จากคาดเชือกมาเป็นสวมนวม (พ.ศ. 2462) ได้จัดการแข่งขันขึ้นเป็นระยะเวลาพอสมควร สนามก็เลิกไป กรรมการผู้ชี้ขาดในสมัยนี้นับว่ามีชื่อเสียงก็คือนายทิม อติเหรมานนท์ และนายนิยม ทองชิตร์

3. สมัยสวนสนุก การจัดการแข่งขันในสมัยนี้ รู้สึกว่าเจ้าของสนามได้จัดการแข่งขัน และได้จัดการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปีทำให้นักมวยไทย มีชื่อเสียงขึ้นหลายคนเช่น นายสมาน ดิลกวิลาส นายสมพงษ์ เวชสิทธิ์ เป็นต้น กรรมการที่ชี้ขาดการตัดสินในขณะนั้นและนับว่ามีชื่อเสียงควรกล่าวคือ หลวงพิพัฒน์ กลกาย นายสุนทร ทวีสิทธิ์ (ครูกิมเส็ง) และนายนิยม ทองชิตร์

4. สมัยหลักเมืองและสวนเจ้าเชษฐ์ การแข่งขันชกมวยในสมัยนี้นับว่าเข้มแข็งดีมาก เพราะทางราชการทหารได้เข้าจัดการเพื่อเก็บเงินบำรุงราชการทหาร คณะกรรมการและนักมวยได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี จนเก็บเงินส่งบำรุงราชการทหารได้เป็นจำนวนมากสมความประสงค์ของราชการทหาร ตลอดจนทำให้นักมวยที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น ผล พระประแดง เพิก สิงห์พัลลภ ถวัลย์ วงศ์เทเวศน์ ประเสริฐ ส.ส. และ ทองใบ ยนตรกิจ ได้จักการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปี จึงได้เลิกการแข่งขันเมื่อใกล้ ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 กรรมการผู้ชี้ขาดได้ทำการตัดสินอยู่เป็นประจำตลอดนั้น มีอยู่ 3 คนด้วยกัน คือ นายสังเวียน หิรัญยเลขา, นายเจือ จักษุรักษ์, นายวงศ์ หิรัญยเลขา

5. สมัยปัจจุบัน ได้ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินีเป็นประจำทุกวันสลับกันไป ยังมีเวทีชั่วคราว เช่น เวทีกองทัพอากาศ เวทีกองทัพเรือ และตามต่างจังหวัดทุกจังหวัด การแข่งขันมีทั้งมวยไทย และมวยสากล ตลอดจนได้จัดส่งให้นักมวยต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน และจัดส่งนักมวยไทยไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศในปัจจุบัน

มวยไทยเป็นกีฬาที่เก่าที่สุดของเรา และเป็นที่นิยมของประชาชนทุกชั้นทุกสมัย ในชั้นต้นการแข่งขันมวยไทยไม่ได้มีกติกาเป็นลายลักษณ์อักษร นายสนามต้องชี้แจงให้นักมวยคู่แข่งขันทราบถึงหลักเกณฑ์ในการแข่งขันนั้น ๆ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อใช้กันมากขึ้นก็กลายเป็น จารีตประเพณี ซึ่งใช้เป็นหลักสำหรับการแข่งขันสืบมา

พ.ศ. 2455 ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ซึ่งสำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ได้ทรงนำวิชามวยฝรั่ง (มวยสากล) มาสอนให้แก่คณะครูที่สามัคยาจารย์สมาคม และได้ทรงร่างกติกามวยฝรั่งขึ้น ในไม่ช้ามวยฝรั่งก็ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักรโดยรวดเร็ว
พ.ศ. 2462 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการแข่งขันมวยฝรั่งระหว่างนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนกติกามวยฝรั่งซึ่ง ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ได้ทรงร่างขึ้น มีการแก้ไขบ้างเล็กน้อย และคณะกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470

พ.ศ. 2470 กระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะออกกฎกระทรวง ว่าด้วยเงื่อนไขในการอนุญาตให้เล่นการพนันมวยชก มวยปล้ำ ตามพระราชบัญญัติการพนัน

พ.ศ. 2470 และขอให้กรมพลศึกษาปรับปรุงแก้ไขกติกาเหล่านี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น กรมพลศึกษาเห็นชอบด้วย จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมพลศึกษาร่วมมือกันพิจารณาร่างกติกามวยไทย มวยฝรั่ง และมวยปล้ำขึ้นใหม่จนสำเร็จเมื่อ 10 มี่นาคม 2477 และเริ่มใช้กติกาใหม่นี้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2480 เป็นต้นไป และได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2482

พ.ศ. 2477 กระทรวงมหาดไทยได้วางข้อบังคับคุ้มครองการแข่งขันชกมวยไทย มวยฝรั่ง เพื่อเป็นการแข่งขันชั่วคราว
กติกาการชกมวยไทย

ปัจจุบัน กีฬามวยไทยอาชีพบนเวทีมวยมาตรฐานและ กีฬามวยไทยสมัครเล่นเป็นการต่อสู้ที่มีกฏกติกาชัดเจน มีนายสนามผู้ขออนุญาตจัด มีผู้จัดชก (Promoter) มีกรรมการให้คะแนนและกรรมการตัดสินชี้ขาด (Judge/Julies/Referee) กรรมการตัดสินจะต้องมีอย่างน้อย สาม คน มีกรรมการตัดสินชี้ขาดบนเวทีและกรรมการให้คะแนน การให้คะแนนนิยมให้เป็นยก ยกละ 10 คะแนน (ดูจากการใช้ศิลปะการป้องกัน การต่อสู้ ความบอบช้ำที่ได้รับ อันตรายจากบาดแผล การได้เปรียบเสียเปรียบ การคาดการณ์ผลสุดท้ายของการต่อสู้ การตัดคะแนนจากการเอารัดเอาเปรียบคู่ชกในขณะที่ไม่เหมาะสม, การถูกทำให้เสียหลักหรือล้ม, การถูกนับ ฯลฯ) ซึ่งพิจารณาโดยใช้หลักวิชาและประสบการณ์ของกรรมการที่ผ่านการตรวจสอบรับรอง ความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ การชกจัดเป็นยกมี 5 ยก ยกละ 3 นาที พัก 2 นาที (เดิมกำหนด 4 ถึง 6 ยก) มุ่งผลเพียงแค่ แพ้ ชนะ และการแสดงออกของศิลปะการต่อสู้ชั้นสูง ผู้ชกต้องแต่งกายตามกำหนด และมีการสวมมงคลคาดผ้าประเจียด และก่อนชกต้องมีการไหว้ครู

 อุปกรณ์ สำหรับนักมวยไทยที่สำคัญ

 1.เครื่องแต่งกาย ได้แก่ กางเกงขาสั้น กระจับ ผ้าพันมือ นวม แบ็ค แองเกิล มงคล ผ้าประเจียด เสื้อคลุม ฟันยาง
  2.อุปกรณ์ฝึกซ้อม ได้แก่ กระสอบทราย กระสอบนวม กระสอบยางรถยนต์ ล่อเป้าหมัด ล่อเป้าเตะ-เข่า พันชิ่งบอล ดัมแบล บาเบล กระบองสั้น พลองยาว เก้าอี้ซิทอัฟ เหล็กกำ เชือกกระโดด เชือกมะนิลา กระจกเงา ยางล้อรถยนต์ฝึกการทรงตัว หลักหัวเสา ราวไม้ รั้วต่ำ บาร์เดี่ยว บาร์คู่ เวทีฝึกซ้อม เสื่อ ไม้นวด เตาถ่านและลูกประคบฯลฯ

 3.อุปกรณ์อื่น ๆ ได้แก่ วาสลิน กระป๋องฉีดน้ำ (ป็อกเกิล) ผ้าเช็ดตัว ผ้าขนหนู รองเท้าวิ่ง ถังน้ำ กระติกน้ำแข็ง เก้าอี้ เครื่องยาสำคัญ อาทิ น้ำมันมวย ยาหม่อง ยาดำ ยาขม ขมิ้นชัน ไพล บอระเพ็ดหมากพลู ปูนแดง สารส้ม ฯลฯ
มวยไทยมิใช่จะมีเฉพาะความเข้มแข็งของนักสู้แต่มันมากด้วยจิตวิญญานของผู้ กตัญญู ผู้อ่อนโยน ผู้เป็นมิตร ผู้อดทน ผู้ให้อภัย และผู้ร่าเริงเบิกบาน บทหนึ่งของมวยไทยอาจดูกระด้าง อาจดูน่าเกรงขามแต่นั่นเพื่อตอบโต้แก่ผู้รุกราน บทหนึ่งของมวยไทยอาจดูอ่อนด้อยน่าย่ำยีแต่นั่นเป็นกลลวงสำหรับผู้ที่เย่อ หยิ่งจองหองเท่านั้น และทั้งหมดนั้นผู้ที่เป็นมวยซึ่งได้ผ่านสังเวียนการต่อสู้ทั้งที่มีเกียรติ และไร้เกียรติมาอย่างโชกโชนย่อมเข้าใจดีว่ามวยไทยที่เขาได้ใช้มันออกไปเพื่อ แสดงอะไร

   ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย มีพัฒนาการควบคู่มากับวิถีชีวิตของคนไทย จึงมีลักษณะผสมผสานด้านการต่อสู้เพื่อใช้ป้องกันตัวและต่อต้านการรุกรานของ ชนเผ่าอื่น แล้วยังรวมเอาการแสดงศิลปะลีลาของการใช้อวัยวาวุธอันมีความหลากหลายพิสดาร น่าดูไว้ด้วยตามลักษณะนิสัยของคนไทยที่ชอบการแสดงออก ความสนุกสนานร่าเริงและเป็นมิตร ตลอดถึงความเป็นคนอ่อนน้อม กตัญญูรู้คุณคน ซึ่งถือเป็นหลักการของศิลปะการต่อสู้เฉพาะ ชนชาวไทย ที่มีรูปแบบที่แตกต่างจากชาติใดๆ ผู้ที่เรียนรู้ ฝึกฝนจนเข้าถึงและเข้าใจจึงจะสามารถคงเอกลักษณ์นี้ไว้ได้

ไม่มีความคิดเห็น: