วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ตำนานนิทานทุ่งกุลาร้องไห้

                             ตำนาน ทุ่งกุลาร้องไห้


ทุ่งกุลาร้องไห้  เป็นที่ราบที่มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน มีเนื้อที่ประมาณ 2,107,691 ไร่ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และ ยโสธร ส่วนพื้นที่ที่ต่อเนื่องกันมากที่สุด กว้างยาวที่สุดนั้น เริ่มตั้งแต่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคามเรื่อยขึ้นไปทางตะวันออก ส่วนกว้างที่สุดอยู่ในท้องที่อำเภอปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ โพนทราย มีเนื้อที่ประมาณ 847,000 ไร่ ส่วนทุ่งที่มีชื่อลือนามว่า ทุ่งกุลาร้องไห้นั้น อยู่เขตอำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด และอยู่ในเขตอำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ถ้าเรายืนอยู่ในใจกลางทุ่งแถบนี้แล้วเหลียวมองไป รอบ ๆ ตัวเราจะเห็นแต่ทุ่งหญ้าจดขอบฟ้าสุดสายตา เมื่อประมาณ 60-70ปีมาแล้วไม่มีต้นไม้ขึ้นอยู่เลยมีแต่ป่าหญ้าแท้ๆสูงแค่ศรีษะคนมาบัดนี้เห็นมีต้นไม้ขึ้นบ้างเป็นแห่งๆตามเนินสูงทั่วๆไป แต่ก็มีบางตามากสภาพของทุ่งไม่ราบเรียบเสมอกันมีเนินมีแอ่งสูงๆต่ำๆมีลำห้วยเล็กใหญ่ไหลผ่านหลายสายเช่นลำเสียวเล็กลำเสียวใหญ่ลำเตาลำพลับพลาเป็นทางระบายน้ำออกจากทุ่งในฤดูฝนลงสู่แม่น้ำมูลสองฝังลำห้วยเหล่านี้เป็นดินทามฤดูฝนน้ำหลากทุ่งฤดูแล้งน้ำแห้งขอด ประชาชนได้อาศัยจับปลาตามลำน้ำเหล่านี้เป็นอาหาร ในฤดูแล้งที่น้ำลดลง เมื่อราว พ . ศ . 2460 ถอยหลังขึ้นไปมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น กว้าง ละมั่ง อีเก้ง อยู่กันเป็นฝูงๆมีนกตัวใหญ่ๆ มาอาศัยอยู่ก็มาก เช่น นกหงส์ นกกระเรียน นกกระทุง นกเป็ดน้ำ อยู่กันเป็นฝูงใหญ่ๆ แต่เวลานี้สัตว์ป่าเหล่านั้นได้หายสาบสูญไปสิ้นแล้ว  

   

                      ตำนานนิทานทุ่งกุลาร้องไห้

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อหลายพันปีมาแล้วดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้เคยเป็นทะเลสาบมาก่อนกว้างยาวสุดลูกหูลูกตาไม่มีต้นไม้ใหญ่สสักต้นเพราะน้ำลึกมาก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ในสมัยนั้นมีเมืองสำคัญอยู่เมืองหนึ่งคือ เมืองจำปาขัน หรือเมืองจำปานาคบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของทะเลสาบ ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวไว้ว่า

"ท่งกุลาเดิมเค้ามันเป็นทะเลใหญ่
หัวเมืองไกลเทียวค้าเฮือข่วมท่องเที่ยว
ทะเลสาบคดเคี้ยวฟองแก่งแฮงกระแส
หมู่ชาวแฮือชาวแพซ่อยขนสินค้า
ปัจจิมพ้นจำปานคเรศ
เขตเวนตกก้ำพี้เมืองบ้านน่านนคร"

พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองเมืองนครนั้นมีธิดาอยู่องค์หนึ่งชื่อว่า นางแสนสี และมีหลานสาวคนหนึ่งชื่อว่า คำแพง นางทั้งสองเป็นหญิงสาวรุ่นราวคาวเดียวกันและมีรูปร่างหน้าตาสาวงามพร้อมทั้งลักษณะเท่ากับนางอัปสรมีวัย 15 หยกๆ 16 หยอนๆพระราชารักเหมือนดวงพระเนตรและได้จัดให้มีคนดูแลรักษาอย่างดี ผู้ดูแลรักษามีชื่อว่า จ่าแอ่น เมื่อนางทั้งสองจะไปที่ใด จ่าแอ่นก็จะติดตามไปด้วยทุกหนทุกแห่ง ในเมืองจำปานาคบุรีนี้มีพญานาคอยู่ฝูงหนึ่ง เป็นพญานาคที่มีฤทธิ์มากถ้าชาวเมืองได้รับความเดือดร้อน พญานาคนี้จะให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง จึงมีชื่อว่า นาคบุรี ในสมัยเดียวกันนั้น มีเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า บูรพานคร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบ มีโอรสชื่อ ท้าวฮาดคำโปง ละมีหลานชายชื่อ ท้าวอุทร ทั้งสองได้ออกไปเรียนวิชาศิลปศาสตร์สำนักเดียวกันเมื่อเรียนจบแล้ว อาจารย์อยากจะให้ลูกศิษย์ลองวิชาดูว่าจะมีความสามารถเพียงใด จึงเรียกลูกศิษย์ทั้งสองเข้ามาหาแล้วสั่งว่า ให้เจ้าทั้งสองไปสู้รบกับพญานาคที่เมืองจำปานาคบุรี และกำชับว่า พญานาคนั้นมีฤทธิ์มากหากเจ้าทั้งสองชนะพญานาคได้ก็หมายความว่าวิชาที่เจ้าได้ร่ำเรียนมานั้นเป็นผลสำเร็จ ศิษย์ทั้งสองก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของอาจารย์ จึงพากันกราบลาอาจารย์ออกจากสำนักไปยังเมืองจำปานาคบุรี เมื่อไปถึงท้าวทั้งสองยังมิได้ลองวิชาแต่อย่างไร แต่ได้ทราบว่าเจ้าเมืองจำปานาคบุรีนั้นมีพระธิดาและหลานสาวที่สาวงามมาก จึงเป็นเหตุให้ชายหนุ่มทั้งสองหันมาให้ความสนใจสาวงามมากกว่าการที่จะสู้รบทดลองวิชากับพญานาค จึงได้พยายามติดต่อกับนางทั้งสอง แต่มองไม่เห็นหนทางที่จะสำเร็จได้ เพราะนางทั้งสองมีผู้ดูแลรักษาอย่างเข้มงวด จึงหาโอกาสติดต่อได้ยาก แต่หนุ่มทั้งสองก็มิได้ละความพยายามแต่อย่างใด และได้สืบทราบมาว่าทุกๆเจ็ดวันนางทั้งสองจะพาบ่าวไพร่และผู้ดูแลรักษาออกไปเล่นน้ำทะเลสักครั้งหนึ่งจึงคิดว่าจะใช้วิชาที่ได้ร่ำเรียนมาเข้าช่วย

อยู่มาวันหนึ่ง พระนางทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร และจ่าแอ่นผู้ดูแลรักษา ได้พายเรือลงไปเล่นน้ำทะเล ท้าวทั้งสองเห็นเป็นโอกาสดีจึงเสกผ้าเช็ดหน้าให้กลายเป็นหงส์ทองลอยไปข้างหน้าเรือของนางทั้งสอง เมื่อนางทั้งสองเห็นหงส์ทองลอยน้ำมาก็อยากได้ไว้ชม จึงอ้อนวอนจ่าแอ่นให้พายเรือติดตามเอาหงส์ทองมาไห้ได้ แต่ยิ่งตามไปใกล้เท่าไรหงส์ทองก็ยิ่งลอยออกไปไกลทุกที ครั้งชะลอฝีพายลงหงส์ทองก็ลอยช้าลงด้วย ทำท่าจะให้จับตัวได้ เมื่อยิ่งตามไปเรือของนางทั้งสองก็ตกอยู่กลางทะเลใหญ่ ท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทรเห็นเป็นโอกาสดี จึงแล่นเรือสำเภาของตนซึ่งจอดรอคอยอยู่แล้วออกสกัดหน้าเรือของนางทั้งสองแล้วเอานางทั้งสองพร้อมด้วยบริวารขึ้นเรือสำเภาของตน แล้วแล่นออกไปในทะเลใหญ่

ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า

บ่าวสำน้อยท้าวฮาดคำโปง
ท้าวอุทรกะลงสู่สำเภาลอยน้ำ
คึดอยากไปเทียวก้ำจำปานคเรศอยากเห็นเนตรยอดฟ้าสาวหล้าซาวไกลหลายเพลาขวบได้เฮือแล่นตามลม
หมายซิชมเอานางต่างเมืองมาซ้อน
สำเภามาจวนค่อยจำปาเมืองใหญ่
เขาจอดเฮืออยู่ใกล้มนต์ร่ายใส่เสน่ห์
เสกเป็นหงส์ทองเอ้ลงท่าลีลา
ใช่เป็นสาส์นหงส์มาล่อเอานางน้อย
ตอนนั่นคำแพงสร้อยแสนสีน้องพี่
ลงวารีอาบล้างหน้าน้อยค่อยละมัย
เห็นหงส์ทองอยากได้เอิ้นใส่ทาสา
ให้จ่าแอ่นนั่นมาไล่หงส์บ่พอได้
ทำมาอยากกรายใกล้ไหวดีล่อหลอก
ออกมาหวิดเขตน้ำกรายก้ำบ่อนสิคืน
บังคับสาวให้ขึ้นเฮือแล่นหนีไป

เมื่อเจ้าเมืองจำปานาคบุรีได้ทราบข่าวว่านางทั้งสองหายไปก็ตกพระทัยเป็นอันมาก แต่พระราชาองค์นี้มีพญานาคเป็นสหาย เคยสัญญากันไว้ว่า ถ้าเกิดศึกสงครามแก่บ้านเมืองเวลาใด ให้ตีกลองชัยจะได้มาช่วย เมื่อเกิดเหตุกระทันหันขึ้นดังนี้ พระราชาจึงใช้ให้มหาดเล็กตีกลองชัยขึ้น เมื่อพญานาคได้ยินเสียงกลองของพระราชาก็ได้จัดกองทัพขึ้นมา แต่ไม่เห็นข้าศึกจึงถามพระราชาว่า มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นจึงได้ตีกลองชัย พระราชาจึงบอกว่า มีหนุ่มวิทยาคมสองคนได้ลักพาพระธิดาและหลานสาวทั้งสองหายไปในทะเลสาบจึงขอให้ท่านช่วยเหลือด้วย พญานาคเป็นผู้มีฤทธิ์จึงบันดาลให้ทะเลสาบแห้งเหือดทันที
ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า

เจ้าเมืองคึดสงสัยว่าลูกสาวตายคึกน้ำ

ลูกบ่ฟังความห้ามเสียใจเครียดใหญ่
อุกพระทัยคั่งแค้นพอม้วยละแม่งตาย
จั้งฮู้ว่าผู้ร้ายมาแย่งชิงนาง
หลูตนเด๊คิงบางพรางไกลเมืองบ้าน
ขอให้นาคดั้นด้นดินปิ้นไป่
ทะเลแห้งแต่ครั้งนาคก่นนำสาว
ตามประวัติเรื่องรางกล่าวกลอนมาไว้

เรือสำเภาของท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทรแล่นต่อไปไม่ได้ท้าวทั้งสองจึงนำจ่าแอ่นผู้ดูแลนางทั้งสองไปซ่อนไว้ในดงแห่งหนึ่ง ต่อมาได้เรียกชื่อว่า ดงจ่าแอ่น และได้กลายเป็นที่ตั้งของ บ้านจ่าแอ่น ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า บ้านแจ่มอารมณ์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

และนำนางแสนสีไปซ่อนไว้ในดงแห่งหนึ่งต่อมาได้ชื่อว่า ดงแสนสี และได้กลายเป็นที่ตั้งของ บ้านแสนสี ปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนนางคำแพงผู้เป็นหลานได้นำไปซ่อนไว้ในดงแห่งหนึ่ง ต่อมาได้เรียกชื่อว่า ดงป่าหลาน และได้กลายเป็นที่ตั้ง อำเภอบาหลาน ปัจจุบันนี้เรียกว่า อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

เมื่อน้ำทะเลได้แห้งเหือดหมดแล้วนั้นบรรดาสัตว์น้ำต่างๆ มี ปู ปลา กุ้ง หอย เหรา แข้ เต่า และตะพาบน้ำที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบนั้นได้ตายหมด แล้วเน่าเหม็นส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งฟ้าขึ้นไปถึงพระนาสิกของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นฟ้า พระอินทร์ทนไม่ไหว จึงใช้นกอินทรีสองผัวเมียลงมากินซากสัตว์ที่ตายให้หมด นกอินทรีได้กินอยู่ประมาณครึ่งเดือนจึงหมด และได้ถ่ายมูลไว้เป็นกองใหญ่มาก ทุกวันนี้เรียกว่า โพนขี้นก ปรากฏอยู่ที่กลางทุ่งกุลาร้องไห้ ( โรงเรียนบ้านโพนครกน้อย ) ในเขตตำบลหินกองอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า

กล่าวเถิงท่งครั้งนั่นลมปั่นมาตี

เหลียวเบิ่งน้ำบ่มีหาดดินหินก้อน ปูปลาหอยตายข่อนกองกันเป็นเถ้าลางบ่อนแข่นเส้าเง้าฮาวเล้าท่อโพน
เปลือกหอยตายกองขึ้นเป็นขี่นกอินทรี
นกมันมีฤทธิ์เซนลงแต่เทิงฟ้า
กินหอยปลาแล้วขี่บินหนีไปบ่อนใหม่
ขี่กองน้อยกองใหญ่มันกะมีจั่งเว้า
ท่งมันกว้างต่อกว้างสุดขั่วแสงตา
พระอินทร์ใซ่ลงมาคาบกินให้มันล่อน
ว่าให้กินปลาข่อนอย่าให้มันเน่าเหม็น
เดี่ยวนี่เหม็นอูดเอ้าไปสู่เมืองสวรรค์
เมินปูหอยปลาแล้วเทียวขี่ใส่จนเป็นโพน
จักว่าโดนปานไหั่นเล่ามาเท่าสู่มื้อ

ส่วนนกอินทรีนั้นเมื่อกินสัตว์ที่ตายหมดแล้วจึงไปทูลถามพระอินทร์ว่า ข้าแต่จอมเทพผู้เป็นใหญ่แห่งเทวดาทั้งหลาย พระองค์จะให้หม่อมฉันกินอะไรต่อไปอีกเล่า ครั้นพระอินทร์จะบอกให้กินสัตว์ที่มีชีวิตก็กลัวศีลจะขาดจึงบอกเป็นอุบายว่า ให้ท่านทั้งสองนอนฝันกินเอาเองเถิด ถ้าหากฝันว่าได้กินอะไรก็จงไปกินตามความฝันนั้นเถิด อยู่มาวันหนึ่งนกอินทรีผัวเมียฝันว่า ได้กินพระยาช้างสาร จึงพากันไปสู่ดงใหญ่แห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบมีชื่อเรียกว่า ดงน้ำเปียกซึ่งเป็นที่อยู่ของพระยาช้างสารคำว่า ดงน้ำเปียก ในที่นี้เพ่งตามภาษาแล้วเข้าใจว่าเป็นภาษาเขมรเช่นคำว่า ตะตึก แปลว่าเปียกน้ำ ในปัจจุบันเราเรียกว่า ดงสะตึก ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอสะตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ในทุกวันนี้ เพราะดงสะตึกนี้เป็นดงที่ราบต่ำและอยู่ริมทะเลด้วยเป็นดงที่มีช้างอยู่มากมาย มีเจ้าโขลงชื่อพระยาช้างสาร เมื่อนกอินทรีผัวเมียไปพบพระยาช้างสารแล้วจึงพูดว่า พระอินทร์ได้ให้ข้าพเจ้ามากินท่านเป็นอาหาร พระยาช้างสารไม่เชื่อนกอินทรีเพราะตามปกติแล้ว พระอินทร์จะไม่เบียดเบียนสัตว์โลกทั้งหลายมีแตจะช่วยให้พ้นทุกข์เท่านั้น พระยาช้างสารจึงพูดว่า ท่านจะกินข้าพเจ้าไม่ว่าอะไรแต่ข้าพเจ้าขอผลัดเวลาไว้สักวันหนึ่ง เพื่อจะได้ไปทูลถามพระอินทร์ให้เป็นการแน่นอน นกอินทรีก็ผ่อนผันให้ ครั้นแล้วพระยาช้างสารก็ใช้ให้ พระยาช้างเคล้าคลึง เพื่อนสนิทไปทูลถามพระอินทร์แทนตน ครั้นพระยาช้างเคล้าคลึงไปถึงพระอินทร์ จึงทูลถามว่า ข้าแต่เทพเจ้าผู้เป็นจอมแห่งเทวดา พระองค์ใช้ให้นกอินทรีไปกินพระยาช้างสารหรือ พระอินทร์ตอบไปอย่างฉับพลันว่า ข้าไม่ได้บอกนกอินทรีไปกินพระยาช้างสาร แต่เราได้บอกนกอินทรีผัวเมียนอนเสี่ยงทายฝันกินเอง เมือฝันว่าได้กินอะไรก็ให้ไปกินตามความฝันนั้นเถิด นกอินทรีฝันว่าได้กินอะไรก็เป็นเรื่องของเขาหาใช่เรื่องของเราไม่ พระยาช้างเคล้าคลึงจึงทูลว่า ถ้าเช่นนั้นเมื่อคืนนี้หม่อมฉันฝันว่า ได้นอนร่วมกับนางสุชาดา อัครมเหสีของพระองค์ พระองค์จะให้หม่อมฉันนอนร่วมกับพระนางสุชาดาหรือไม่ ครั้นพระอินทร์จะตอบว่า ให้นอนก็คงจะเสียเปรียบพระยาช้างเคล้าคลึง ถ้าพระองค์จะตอบว่าไม่ให้นอนก็เป็นการเสียสัตย์ ด้วยเหตุนี้พระอินทร์จึงนิ่งเฉยไม่ทรงตอบว่ากระไร จึงเรียกนางเทพธิดามาฟ้อนรำให้พระยาช้างเคล้าคลึงดู พระยาช้างเคล้าคลึงดูความสวยงามอ่อนช้อยของนางเทพธิดาจนเพลิดเพลินและเคลิ้มหลับไปในที่สุดจนลืมวันที่นัดหมายกับนกอินทรีไว้แล้วนกอินทรีไม่เห็นพระยาช้างเคล้าคลึงลงมาก็กินพระยาช้างสาร

แล้วคาบเอาเท้าของพระยาช้างสารไปทิ้งไว้ใน ดงเมืองศรีภูมิ ชื่อว่า ดงท้าวสาร ปัจจุบันคือที่ตั้งอำเภอ สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด คาบเอาหัวของพระยาช้างสารไปทิ้งไว้ที่ บ้านหัวช้าง และต่อมาได้ตั้งอำเภอขึ้นครั้งแรก เรียกว่า อำเภอหัวช้าง ครั้นต่อมาท้าวพรมสุวรรณธาดา จึงย้ายไปตั้งที่ทำการใหม่จึงเรียกว่า อำเภอ จตุรพักตร์พิมาน เหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่า พระพรหมโดยมากมีสี่หน้าจึงเรียกตามชื่อของพระพรหมมาจนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อนกอินทรีได้กินพระยาช้างสารตามความฝันแล้ว ก็มีใจกำเริบเสิบสานนึกอยากจะฝันกินมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นอันมากทำให้มนุษย์และสัตว์จะไปไหนมาไหนก็ลำบากเพราะกลัวแต่นกอินทรีจะกิน จนไม่เป็นอันทำมาหากินในขณะเดียวกันนั้น พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งหลายซึ่งประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงแผ่พระสัพพัญญตญาณตรวจดูสัตว์โลกในเวลาปัจจุบันสมัยตามพุทธวิสัยของพระองค์ ได้ทรงเล็งเห็นความโหดร้ายของนกอินทรีผัวเมียซึ่งกำลังเบียดเบียนสัตว์โลกอยู่ จึงทรงตรัสเรียก พระโมคคัลลานะเข้ามาหาแล้วตรัสว่า ดูก่อนโมคคัลลานะเธอเป็นผู้ได้เอตทัคคะในทางฤทธิ์เธอจะไปช่วยสรรพสัตว์ที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่นั้นเถิด ครั้นแล้วพระโมคคัลลานะก็ถือบาตรและจีวรเหาะเหินมุ่งหน้าสู่ดงท้าวสาร ได้มาพักอยู่ดงท้าวสารเข้าฌาณเตโชกสิณเพ่งไฟเป็นอารมณ์ เกิดเป็นเพลิงลุกโพลงขึ้นไปกระทบทรมานนกอินทรีผัวเมียทั้งสองร้อนแทบใจจะขาด นกอินทรีผัวเมียจึงแผดเสียงร้องขึ้นดังไปไกลได้ร้อยโยชน์สะเทือนไปถึงพื้นบาดาล

ขณะนั้นมีพญานาคอยู่ฝูงหนึ่งซึ่งอยู่ในบ่อแห่หนึ่งไม่ไกลจากดงท้าวสารได้ยินเสียงแปลกประหลาดดังจนหวั่นไหวนึกว่าอันตรายจะมาถึงตัว จึงโผล่ขึ้นมาจากพื้นบาดาลพ่นพิษออกไปเป็นควันมืดฟ้ามัวดิน พิษไปถูกลูกตาของมนุษย์ที่อยู่บ้านใกล้เคียงเป็นอันตรายจำนวนมาก บางคนถึงกับลูกตากระเด็นออกมา ต่อมาหมู่บ้านนั้นได้ชื่อว่า บ้านตาเด็น ปัจจุบัน คือ บ้านตาเณร อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

เพราะพิษของ พญานาคมีรสเค็มจัดยิ่งกว่าเกลือเสียอีก พระโมคคัลลานะอรหันต์ เมื่อเล็งเห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงเข้าฌาณเตโชกสิณ เกิดเป็นเปลวไฟไปปกปิดปาดบ่อที่พญานาคโพล่ขึ้นมาพ่นพิษ ไม่ให้โผล่ขึ้นมาพ่นพิษได้อีก และท่านเกรงว่าพญานาคจะขึ้นมาได้อีก จึงอธิษฐานเท้าซ้ายเหยียบที่ชายจีวร ปัจจุบันยังเหลือให้เห็นเป็นรอยเท้าคนขนาดยาว 1 เมตร กว้าง 40 เซนติเมตร อยู่ระหว่างเนินย่าน้อยบริเวณบ่อพันขัน และอธิษฐานเท้าขวาเหยียบที่ชายจีวรห่างกันไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ตรงปากน้ำลง ลำน้ำเสียว ( คอคีบ ) มีรอยขนาดเท่ากันยังเหลือปรากฏอยู่เหมือนเดิม ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่ทางราชการได้ปิดบ่อเป็นฝายกั้นน้ำ จึงทำให้น้ำท่วมทั้งสองรอย ต่อมาจีวรของพระมหาโมคคัลลานะ จึงเกิดเป็นแผ่นหินเป็นรูปจีวรและท่านเกรงว่าประชาชนต่อไปจะไม่มีน้ำจืดกิน จึงได้อธิษฐานใช้นิ้วชี้ชี้ลงไปตรงผ้าจีวรผืนนั้น เกิดรอยแตกเท่าขันน้ำมีรัศมีกว้าง 9 นิ้ว ความลึกประมาณ 8 นิ้ว มีน้ำไหลออกมาประจำ ชาวบ้าเรียกว่า น้ำสร่างโครก เพราะมีลักษณะเหมือนครกตำข้าว และบริเวณทั้งหมดทั่วบริเวณนั้น เรียกว่า บ่อพันขัน

เมื่อปราบพญานาคเสร็จแล้วก็แสดงธรรมโปรดชาวเมืองให้ยึดมั่นใน พระรัตนตรัย จากนั้นก็กลับเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และมิได้กลับคืนมาสู่ดินแดนแถบนี้จนกระทั่งนิพพานข่าวการนิพพานของพระเถระเจ้าได้แพร่กระจายรู้ถึงชาวเมือง จึงได้ส่งคนให้ไปอัญเชิญพระอัฐิธาตุมาทำสถูปบรรจุไว้ที่ดงเท้าสาร ปัจจุบันสันนิษฐานว่าคงเป็น พระธาตุอรหันต์โมคคัลลาน์ วัดกลาง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด หรือเป็นอุทเทสิกเจดีย์ให้พวกเราชาวพุทธได้สักการะต่อมาช้านาน

บริเวณ บ่อพันขัน ที่นั้นเป็นลำห้วยมีขนาดกว้างประมาณ 20 เส้นเศษ ยาวประมาณ 30 เส้นเศษ เป็นลำน้ำเล็กไหลลงสู่ลำน้ำเสียว หน้าแล้งน้ำแห้งขอดดินในท้องบ่อจะเป็นส่าเกลือเพราะพิษพญานาคไหลออกมาจากจีวรเค็มเป็นเกลือ อยู่ที่ดินแดนอำเภอพนมไพรและสุวรรณภูมิจดกัน หน้าแล้งคนสองอำเภอนี้จะพากันขูดเอาผิงดินในท้องบ่อ มากรองเอาน้ำเกลือที่ไหลออกมาต้มเป็นเกลือสินเธาว์ เป็นสินค้าประจำตลอดมา ที่เรียกว่า บ่อพันขัน นั้นเพราะว่าจีวรของพระนั้นนับเป็นขัน จีวรพระที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มี 7 ขัน และ 9 ขัน แต่จีวรของพระมหาโมคคัลลานะนั้น ท่านทำด้วยฤทธิ์ใหญ่ตั้ง พันขัน จึงปกคลุมพญานาคได้ ผู้คนจึงเรียกบ่อนี้ว่า บ่อพันขัน

จะกล่าวถึงท้าวฮาดคำโปงและท้าวอุทรเมื่อได้นางแสนสีและนางคำแพงเป็นเมียแล้วนั้น ท้าวทั้งสองได้เกิดขัดใจกันและได้ชิงดีชิงเด่นกัน เพราะเกิดรักนางแสนสีร่วมกัน เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงเกิดการรบพุ่งกันขึ้น ท้าวฮาดคำโปงเป็นฝ่ายปราชัยโดยถูกท้าวอุทรฟันคอขาดและสิ้นชีพไปอย่างอนาถจึงกลายเป็นผีหัวแสง หรือ ผีทุ่งศรีภูมิ เฝ้าทุ่งกุลาร้องไห้ ใครไปคนเดียวในเวลาค่ำคืนจะเห็นแสงไฟออกจากหัวพุ่งขึ้นเหมือนแสงตะเกียงเจ้าพายุออกสกัดลัดต้อนผู้คน จนไม่มีใครกล้าออกบ้านในเวลาค่ำคืนคนเดียวเมื่อเจ้าเมืองจำปานาคบุรีทราบรายละเอียดดังกล่าว จึงทำให้เกิดความสงสารและให้อภัยโทษ และจัดเสนาข้าราชการไปติดตามเอานางทั้งสอง พร้อมท้าวอุทรกลับเข้ามายังเมืองจำปานาคบุรี พร้อมทั้งประทานไพร่พลให้ท้าอุทรไปสร้าง ดงท้าวสาร ขึ้นเป็นเมืองเท้าสาร ปัจจุบันคือที่ตั้ง อำเภอสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งยกนางแสนสีให้เป็นมเหสีท้าวด้วย เมื่อทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ไดกลายสภาพมาเป็นท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ ทำให้มองเห็นดินจดขอบฟ้ามาแล้วเป็นเวลานานเท่าไร ไม่มีใครสามารถจะบอกได้ แต่คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ได้มีการไปมาค้าขายติดต่อกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมือง ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลกัน มีพ่อค้าหาบสินค้าเที่ยวขายไปตามหมู่บ้านแถบทุ่งกว้าวนี้เป็นประจำโดยเฉพาะในฤดูแล้งบรรดาพ่อค้าที่มาค้าขายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นี้ ได้มีพ่อค้าพม่าเผ่าหนึ่งมีชื่อว่า เผ่ากุลา ได้นำสินค้ามาเร่ขาย และมากันเป็นหมู่ หมู่ละ 20 30 คน สินค้าที่นำมาขายได้แก่ สีย้อมผ้า เข็ม เสื้อผ้า ยาสมุนไพร เครื่องถม ซึ่งสารด้วยไม้ไผ่ทารักลงสี ลวดลายสวยงามเป็นกล่องคล้ายกระติบข้าวเหนียว ชาวบ้านนิยมซื้อไว้ใส่บุหรี่แลหมากพลู เวลาเดินทางไปไหนมาไหนพวกพ่อค้าจะนำสินค้าใส่ถึงใบใหญ่ ที่เรียกว่า ถึงกระเทียว มาขายจะหาบเร่ร่อนรอนแรมไปเรื่อย ๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ขายหมดที่ใดจะซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อย ๆ

ครั้งหนึ่ง ได้มีกุลาพวกหนึ่งเที่ยวเร่ขายสินค้าจาก อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์พอมาถึงอำเภอท่าตูม พวกกุลาได้ซื้อครั่งเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปขายต่อพอหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูล มาได้สักหน่อยหนึ่งก็ถึงท้องทุ่งอันกว้าวใหญ่ หมายใจว่าจะเดินตัดทุ่งไปสู่ เมืองป่าหลาน ( อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ) มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็ยเส้นทางที่พ่อค้าพวกนี้ยังไม่เคยเดินผ่านทุ่งแห่งนี้มาก่อนทำให้ไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะมองเห็นเมืองป่าหลาน อยู่หลัด ๆ หาทราบไม่ว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน ( สำนวนภาษาอีสาน แปลว่า มองเห็นเป็นใกล้แต่ต้องเดินไกล ) ขณะเดินทางข้ามทุ่ง รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากและในช่วงนั้นเป็นฤดูแล้งด้วย น้ำจะดื่มก็ไม่มี ต้นไม้จะอาศัยร่มเงาแม้แต่เพียงต้นเดียวก็ไม่มี ทั้งแดดก็ร้อนจัด ต่างพากันอิดโรยไปตาม ๆ กันครั่งที่หาบมาจะทิ้งก็เสียดาย จึงพากันโอดครวญและคิดว่าคงจะเอาชีวิตมาตายในทุ่งแห่งนี้เป็นแน่แท้ จึงพากันร้องไห้ไปตาม ๆ กันดังตำนานคำกลอนภาษาอีสานกล่าวว่า

ตกกลางท่งแล้วล้าเดินฝ่าเทิงหัว

เห็นแต่ท่งเป็นทิวมือกุมควันกุ้ม
เหลียวไปไสฟ้าหุ้งงุมลงคือสักสุ่ม
มือกลางเวนจุ้มกุ้มคงไม้กะบ่มี
คักละนอบาดนี่หลงท่งคนเดียว
ถิ่มฮอดถงกะเทียวย่ามของสินค้า
เหลียวทางหลังทางหน้ากุลายั้งบ่อยู่
ลมออกหูจ้าวจ้าวไคค้าวย่าวไหล
จนปัญญาแล้วไห้เทิงจ่มระงมหา
คึดฮอดภรรยาลูกเมียอยู่ทางบ้านลมอัสสวาสกั้นเนื้อสะเม็นเย็นหนาวอ้าปากหาวโหยแฮงแข้งลาขาล้า
เพื่อไปนำกองหญ้าเวลาค่ายค่ำยากนำปากและท้องเวรข่อยจ่องเถิง
ป่าหญ้าแฝกอึ้งตึงกุลาฮ่ำโมโห
ตายย้อนความโลโภล่องเดินเทียวค้า
ใจคะนึงไปหาโศกาไห้ฮ่ำคึดผู้เดียวอ้ำล้ำทางบ้านบ่เห็น
ในหนังสือกล่าวไว้บอกว่ากุลา
หรือแม่นไปทางได้แต่นานมาไว้
ท่งกุลาฮ้องไห้ที่หลังท้ายหมู่
อยู่โดนมาแต่พ้นพันร้อยกว่าปี

พวกกุลาต่างพากันร้องไห้ แล้วได้พากันพักพอหายเหนื่อยจึงเดินทางต่อไป แต่ครั่งที่หาบมามันหนักมาก พวกกุลาจึงพากันเทครั่งน้อยทิ้งหมด ( ครั่งน้อย คือ ครั่งที่แยกตัวครั่งออกแล้วราคาไม่คอยดี ) ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อพวกกุลาเดินต่อไปอีก รู้สึกอิดโรยมาก ครั้นไปถึงกลางทุ่งจึงตัดสินใจเทครั่งใหญ่ทั้ง หมดทิ้ง ( ครั่งใหญ่ คือ ครั่งที่ยังไม่แยกตัวครั่งออกจากครั่งเพราะเวลาย่อมไหมจะมีสีแดงสดและได้ราคาดี ) คงเหลือไว้แต่อาหาร เท่านั้น บริเวณที่พวกกุลาเทครั่งทั้งหมดนี้ ต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อพวกกุลาเดินทางมาพ้นทุ่งแล้ว เข้าสู่หมู่บ้านมีคนมามุงดูเพื่อจะซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้าที่จะขายให้แก่ชาวบ้าน พวกกุลาพากันเสียใจและเสียดายสินค้าที่ตนได้เททิ้งที่กลางทุ่ง พวกกุลาจึงพากันร้องไห้อีกเป็นครั้งที่สอง ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มาตราบเท่าทุกวันนี้