วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

ชนเผ่าไทยอีสาน

ชนเผ่าไทยอีสาน


ไทยอีสาน เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ พูดภาษาไทย-ลาว (ภาษาอีสาน เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน เช่น ฮีต คอง ตำนาน อักษรศาสตร์ จารีตประเพณี นิยมตั้งหมู่บ้านเป็นกลุ่ม บนที่ดอนเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า "โนน" ยึดทำเลการทำนาเป็นสำคัญ อาศัยอยู่ทั่วไป

เรื่องถิ่นเดิมของชาติพันธุ์ลาวมีแนวคิด 2 อย่าง ซึ่งก็มีเหตุผลสนับสนุนพอ ๆ กันคือ
1. ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสานนี่เอง ไม่ได้อพยพมาจากไหน ถ้าเหมาว่าคนบ้านเชียงคือลาว ก็แสดงว่าลาวมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเชียงมากกว่า 5600 ปีมาแล้ว เพราะอายุหม้อบ้านเชียงที่พิสูจน์โดยวิธีคาร์บอน 14 บอกว่าหม้อบ้านเชียงอายุเก่าแก่ถึง 5600 ปี กว่าคนบ้านเชียงจะเริ่มตีหม้อใช้ในครัวเรือน ก็ต้องสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นแล้ว แนวความคิดนี้ยังบอกอีกว่านอกจากลาวจะอยู่อีสานแล้ว ยังกระจายไปอยู่ที่อื่นอีก เช่น เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ยุโรป แล้วข้ามไปอเมริกาเป็นพวกอินเดียนแดง

2. ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่อีสานและมีมาจากที่อื่นด้วย (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. 2540 : 69) แนวคิดนี้เชื่อว่า คนอีสานน่าจะมีอยู่แล้วในดินแดนที่เรียกว่า “อีสาน” หรือส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ โดยประมาณ 10,000.- ปีที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่าได้มีการอพยพของพวกละว้า หรือข่าลงมาอยู่ในแดนสุวรรณภูมินับเป็นคนพวกแรกที่เข้ามา พอเข้ามาอยู่สุวรรณภูมิก็แบ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ ๆ 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี มีอาณาเขตถึงเมืองละโว้(ลพบุรี) อาณาจักรที่สองคือโยนก เมืองหลวงได้แก่เมืองเงินยาง หรือเชียงแสน มีเขตแดนขึ้นไปถึงเมืองชะเลียงและเมืองเขิน อาณาจักรที่สามคือโคตรบูร ได้แก่บรรดาชาวข่าที่มาสร้างอาณาจักรในลุ่มน้ำโขง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโคตรบูรณ์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงจากแนวคิดที่ 2 จะเห็นว่าในคำรวมที่นักมานุษยวิทยา และ นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “คนอีสาน” นั้นน่าจะมีคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่และในหลายกลุ่มนั้นน่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาว”อยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานจากงานเขียนของนักวิชาการบางคนที่กล่าวว่า หลังจากพวกละว้าหรือพวกข่าหมดอำนาจลง ดินแดนอีสานก็ถูกครอบครองโดยขอมและอ้ายลาว ต่อมาขอมก็เสื่อมอำนาจลง ดินแดนส่วนนี้จึงถูกครอบครองโดยอ้ายลาวมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าเป็นอย่างนี้จริงจึงกล้าสรุปได้ว่า “อ้ายลาว” ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั่นเอง อ้ายลาวเป็นสาขาหนึ่งของมองโกลเดิม อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำเหลือง ก่อนที่จะอพยพเข้าครอบครองอีสานนั้นได้รวมตัวกันตั้งเมืองสำคัญขึ้น 4เมือง คือ นครลุง นครเงี้ยว และนครปา ต่อมากลุ่มอ้ายลาวเกิดสู้รบกับจีน สาเหตุเพราะจีนมาแย่งดินแดน อ้ายลาวสู้จีนไม่ได้จึงอพยพลงใต้ถอยร่นลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาตั้งอาณาจักรอยู่บริเวณยูนานในปัจจุบัน มีเมืองแถนเป็นศูนย์กลางสำคัญ แต่ก็ยังถูกรุกรานแย่งชิงจากจีนไม่หยุดหย่อน อ้ายลาวจึงอพยพลงมาตั้งอาณาจักรใหม่อีก คือ อาณาจักรหนองแส มีขุนบรมวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอ้ายลาวเป็นผู้ปกครองขุนบรมขึ้นครองราชย์ พ.ศ.1272 ได้รวบรวมผู้คนเป็นปึกแผ่น และส่งลูกหลานไปครองเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนั้นลูกหลานที่ส่งไปครองเมืองมี 7 คน คือ
1. ขุนลอ ครองเมืองชวา คือ หลวงพระบาง
2. ขุนยีผาลาน ครองเมืองหอแตหรือสิบสองพันนา
3. ขุนสามจูสง ครองเมืองปะกันหรือหัวพันทั้งห้าทั้งหก
4. ขุนไขสง ครองเมืองสุวรรณโดมคำ
5. ขุนงัวอิน ครองเมืองอโยธยา (สุโขทัย)
6. ขุนลกกลม ครองเมืองมอญ คือ หงสาวดี
7. ขุนเจ็ดเจือง ครองเมืองเชียงขวางหรือเมืองพวนพี่น้องอ้ายลาวทั้ง 7 ปกครองบ้านเมืองแบบเมืองพี่เมืองน้องมีอะไรก็ช่วยเหลือเจือจุนกันโดยยึดมั่นในคำสาบานที่คำสัตย์ปฏิญาณร่วมกันว่า “ไผรบราแย่งแผ่นดินกันขอให้ฟ้าผ่ามันตาย”สำหรับ กลุ่มอ้ายลาวนี้น่าจะเกี่ยวโยงเป็นกลุ่มเดียวกับคนชาติพันธุ์ลาวในอีสาน น่าจะเป็นกลุ่มลาวเชียงและลาวเวียง คือ กลุ่มจากอาณาจักรล้านนา (ลาวเชียง) และกลุ่มจากอาณาจักร ล้านช้าง (ลาวเวียง) ในพุทธศตวรรษที่ 17-18 เริ่มตั้งแต่สร้างเมืองชวาหรือเมืองหลวงพระบาง มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง 22 องค์ กษัตริย์องค์หนึ่งคือพระเจ้าเงี้ยว ได้กำเนิดลูกชายคือพระเจ้าฟ้างุ้ม พระเจ้าฟ้างุ้ม เกิดมามีฟันเต็มปาก เสนาอำมาตย์ในราชสำนักเห็นเป็นอาเพศจึงทูลให้พระบิดานำไป “ล่องโขง” คือลอยแพไปตามลำน้ำโขง มีพระเขมรรูปหนึ่งพบเข้าเกิดเมตตาเอาพระเจ้าฟ้างุ้มไปชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่แล้วถวายตัวในราชสำนักเขมรพระเจ้าฟ้างุ้มได้รับการศึกษาอบรมอย่างองค์ชายเขมร และทรงเป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เขมรด้วย เมื่อพระเจ้าฟ้าเงี้ยวสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าคำเสียวผู้เป็นน้องชายขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้าฟ้างุ้มจึงยกทัพจากเขมรทวงราชสมบัติของบิดาคืน สามารถโจมตีเมืองหลวงพระบางได้ เจ้าฟ้าคำเลียวเสียทีแก่หลานสู้ไม่ได้ น้อยใจจึงกินยาพิษตาย เจ้าฟ้างุ้มจึงขึ้นครองเมืองหลวงพระบางเมื่อ พ.ศ. 1896 ทรงพระนามว่า “พระยาฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี” พระเจ้าฟ้างุ้มเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก เป็นนักรบผู้กล้าหาญชาญฉลาด ในช่วงนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีพระมหาธรรมราชาลิไทเป็นกษัตริย์ พระเจ้าฟ้างุ้มได้ขยายอำนาจแผ่ไปถึงญวน ลงมาถึงส่วนหนึ่งของเขมรตอนล่างและเข้ามาสู่ดินแดนอีสานได้อพยพผู้คนจากเวียงจันทน์มาอยู่บริเวณเมืองหนองหาน และหนองหานน้อยประมาณ 10,000 คน พระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์และแผ่แสนยานุภาพเรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าฟ้างุ้มคิดแผ่แสนยานุภาพเข้าครอบครองกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าอู่ทองต้องเจรจาหย่าศึกโดยอ้างความเป็นญาติร่วมวงศ์ขุนบรมเดียวกันว่า “เฮาหากแมนอ้ายน้องกันมาแต่ขุนบรมพุ้น หากเจ้าเป็นลูกหลานขุนบรมจริง เฮาอย่ามารบราฆ่าฟันกันเลย ดินแดนส่วนที่อยู่เลยดงสามเส้า (ดงพญาไฟ ไปจดภูพระยายาฝอและแดนเมืองนครไทยให้เป็นของเจ้า ส่วนที่อยู่เลยดงพญาไฟลงมาให้เป็นของข้อย แล้วจัดส่งลูกสาวไปจัดที่อยู่ที่นอนให้” (ทองสืบ ศุภมารค: อ้างใน สมเด็จพระสังฆราชลาวง2528:43)พระเจ้าอู่ทองยัง ได้ส่งช้างพลาย 51 เชือก ช้างพัง 50 เชือก เงินสองหมื่น นอแรดแสนนอ กับเครื่องบรรณาการอื่น ๆ อีกอย่างละ 100 ให้แก่พระเจ้าฟ้างุ้ม จากหลักฐานนี้อาณาจักรลานช้างจึงมีอำนาจครอบครองดินแดนอีสาน ยกเว้นเมืองนครราชสีมาที่ยังคงเป็นอิสระอยู่เพราะในหนังสือ “ King of Laos ” ระบุว่าในปี ค.ศ. 1385 อาณาเขตกรุงล้านช้างทางทิศตะวันตกติดต่อกับโคราช(นครราชสีมา) ดินแดนอีสานส่วนใหญ่ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าฟ้างุ้มเรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ลาวเขียนไชยเสฏฐามหาราช) ขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2091-2114 ได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาอยู่เวียงจันทน์ พระองค์ได้ทำสัญญาพันธมิตรกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา และทั้งสองได้สร้างพระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นเขตแดนระหว่างสองอาณาจักร กษัตริย์องค์นี้ได้สร้างวัดองค์ดื้อ และศาสนสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองหนองคาย และบูรณะพระธาตุพนมด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสนใจดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงมากกว่าสมัยก่อน ๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2250กิดการแก่งแย่งอำนาจขึ้นในลาว ทำให้ลาวถูกแบ่งออกเป็น 2 อาณาจักร มีหลวงพระบางและเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลาง และในปี พ.ศ. 2256าเขตเวียงจันทน์ทางใต้ได้ถูกแบ่งแยกโดยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าหน่อกษัตริย์) มีเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นเมืองหลวง ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ส่งจารย์แก้ว (เจ้าแก้วมงคล) มาเป็นเจ้าเมืองท่งหรือเมืองทุ่ง ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นับว่านครจำปาศักดิ์ได้ขยายอำนาจเข้ามาสู่ลุ่มแม่น้ำมูล – ชี ตอนกลาง เวลาต่อมาลูกหลานเจ้าเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิได้สร้างเมืองต่าง ๆ ในดินแดนอีสานมากกว่า 15 เมือง (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. 2540 : 71) เช่น สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชนบทขอนแก่น ฯ ล ฯต่อมาเกิดความไม่ลงรอยแตกแยกกัน ระหว่างกลุ่มขุนนางและกษัตริย์ลาวผู้คนได้อพยพหนีภัยการเมืองจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้าสู่อีสานเหนือ กลุ่มสำคัญได้แก่

กลุ่มเจ้าผ้าขาว โสมพะมิตร
กลุ่มนี้อพยพผู้คนมาตั้งอยู่ริ่มน้ำปาว คือ บ้านแก่งส้มโฮง (สำโรง) เจ้าโสมพะมิตรได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1ที่กรุงเทพ ฯ เพื่อถวายความจงรักภักดี และเนื่องจากมีกำลังคนถึง4,000 คน รัลกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าให้ยกบ้านแก่งส้มโฮงเป็นเมืองกาฬสินธุ์ขึ้นตรงต่อกรุงเทพและเจ้าโสมพะมิตรได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไชยสุนทร” เจ้าเมืองกาฬสินธุ์

กลุ่มพระวอพระตา
พระวอพระตาเป็นเสนาบดีลาว เกิดขัดใจกษัตริย์เวียงจันทน์ อพยพผู้คนข้ามโขงมาอยู่ที่หนองบัวลุ่มภูซึ่งเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ตั้งชื่อเมืองว่า “นครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบาน” แต่ได้ถูกกองทัพลาวตามตีจนพระตาตายที่รบ ส่วนพระวอได้พาบริวารไพร่พลหนีลงไปตามลำแม่น้ำโขงจนถึงดอนมดแดง และต่อมาลูกหลานของพระวอได้ขอตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี และเมืองยโสธร

กลุ่มท้าวแล
ท้าวแลและสมัครพรรคพวกได้อพยพหนีภัยการเมืองจากเวียงจันทน์ มาอยู่ในท้องที่เมืองนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายไปทางตอนเหนือแล้วขอตั้งเป็นเมืองชัยภูมิ ท้าวแลได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์ว่า “พระภักดีชุมพล” ต่อมาได้เลื่อนเป็น “พระยาภักดีชุมพล”การตั้งบ้านเมืองในดินแดนอีสานตั้งแต่พุทธศตวรรษ 24-25 หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเมืองต่าง ๆ เกิดขึ้นมากกว่า 100 เมือง มีแบบแผนการปกครองตามแบบหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์คือมีตำแหน่งอาชญาสี่คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ส่วนเมืองในเขตอีสานใต้คือนครราชสีมาและหัวเมืองเขมรป่าดง ได้ใช้แบบแผนการปกครองแบบกรุงเทพ ฯ คือมีเจ้าเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมืองจากหลักฐานของลาวสามารถหาได้กลุ่มชาติพันธุ์ลาว ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอีสานมานานแล้ว จึงสรุปได้ว่า คนในท้องถิ่นอีสาน หรือบริเวณนี้เป็นเชื้อสายลาว ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน สืบทอดสายธารทางประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และตลอดไปในอนาคตอีกนานเท่านาน

วัฒนธรรมการแต่งกาย

เผ่าไทยลาว(ไทยอีสาน) นิยมผ้าฝ้ายมาแต่เดิม และพัฒนาผ้าฝ้ายเป็นการทอผ้ามัดหมี่ลวดลายต่าง ๆ แหล่งผ้าฝ้ายที่มีมานานแล้วคือกลุ่มบ้านวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวยจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีชื่อเสียงในการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ใบไม้ แก่นไม้ผ้าซิ่นแขนกระบอกผ้ายย้อมคราม หรือมัดหมี่ เป็นที่นิยมของชนเผ่าไทยลาวกลุ่มที่แต่งกายแบบดั้งเดิมจริง ๆ นิยมแต่งด้วยผ้าย้อมครามทั้งเสื้อและผ้าซิ่น แต่ไม่สวยเด่นเท่าผ้ามัดหมี่ เพราะมีสีดำมือทั้งตัว การพัฒนาการของการทอผ้ามัดหมี่ ทำให้ไทยลาวในปัจจุบันสามารถทอผ้าลายหมี่คั่นหลายสี เช่น สีเหลือง สีแดง และนิยมสีฉูดฉาด นอกจากนี้ชาวเผ่าไทยลาวยังนิยมทอผ้าห่ม ผ้าจ่องลวดลายสวยงาม ซึ่งสามารถปรับแต่งมาเป็นผ้าสไบโชว์ลวดลายของผ้าประกอบเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี เครื่องประดับของชาวเผ่าไทยลาวนิยมเครื่องเงินเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น
ผ้าซิ่น ในขณะที่เอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กลุ่มผู้ไทย กลุ่มย้อ กลุ่มกะเลิง แต่เดิมนิยมผ้าซิ่นมีเชิงในตัวที่เรียกว่า ซิ่นตีนเต๊าะ แต่เผ่านี้กลับนิยมซิ่นไม่มีเชิงทั้งที่เป็นผ้าเข็น(ทอ) และผ้ามัดหมี่ฝ้าย หรือไหมเสื้อ แบบเสื้อของชนเผ่าไทยลาว แม้เสื้อจะเป็นเสื้อย้อมสีน้ำเงินแก่ แบบเสื้อคล้ายกับชนเผ่าอื่น ๆ แต่เนื่องจากเป็นชนเผ่าที่กระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ และรับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางได้รวดเร็วจึงทำให้เผ่าไทยลาวมีแบบเสื้อแตกต่างไปจากชนเผ่าอื่น ๆ บ้าง เช่น เสื้อแขนกระบอก คือทอจากผ้าแพรตกแต่งให้มีจีบมีระบาย สวมสร้อยที่เป็นรัตนชาติ เช่น มุก มากกว่าการสวมสร้อยเงิน สอดชายเสื้อในซิ่นหมี่ไหม คาดด้วยเข็มขัดเงิน จุดเด่นอีกประการหนึ่งของชนเผ่าไทยลาว คือการนิยมผ้าขะม้าทั้งชายและหญิง ผ้าขะม้า(ขาวม้า) ที่งดงามคือผ้าใส่ปลาไหล มีสีเขียว-แดง-เหลือง ตามแนวยาวไม่ใช่เป็นตาหมากรุก ซึ่งเป็นผ้าสมัยใหม่ ผ้าใส่ปลาไหลสามารถคัดแปลงเป็นผ้าคล้องคอ ผ้าสไบของสตรีในการเสริมการแต่งกายให้งดงามขึ้น







นิทานพื้นบ้าน-ขูลูนางอั้ว

ขูลูนางอั้ว

ท้าวขูลู เป็นโอรสเจ้าเมืองกาสี ส่วนนางอั้วเคี่ยม เป็นธิดาเจ้าเมืองกายนคร ทั้งสองเมืองมีความสัมพันธ์อันดี เจ้าเมืองและพระมเหสีของทั้งสองเมืองต่างก็เป็นมิตรกัน และเคยให้คำมั่นว่าถ้ามีโอรส ธิดาจะให้สมรสกัน ท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมเกิดปีเดียวกัน นางอั้วเคี่ยมมีความงดงามมาก เล่าลือไปถึงเมืองขุนลางซึ่งเป็นขอมภูเขาก่ำ (เขมรป่าดงหรือชาวป่าสักขาลายสีดำ) เป็นชนเผ่าที่ยังไม่เจริญ เมื่อท้าวขูลูเจริญวัยอยากมีคู่ครองจึงลามารดามาเที่ยวเมืองกายนครและได้นำเครื่องบรรณาการมาเยี่ยมเจ้าเมืองด้วย เพื่อท้าวขูลูได้พบนางอั้วเคี่ยมต่างก็มีจิตใจปฏิพัทธ์ต่อกัน ท้าวขูลูลากลับพระนครเพื่อส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอ
ขุนลางหัวหน้าเผ่าชนภูเขาได้ส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอนางอั้วเคี่ยม มารดาของนางได้รับปากเพราะนางไม่พอใจที่มารดาท้าวขูลูซึ่งเพื่อนกัน ตั้งแต่คราวที่นางตั้งครรภ์นางอั้วเคี่ยมและได้ไปเที่ยวอุทยานเมืองกาสี เห็นส้มเกลี้ยงในอุทยานนึกอยากกินตามประสาคนท้อง แต่มารดาท้าวขูลูไม่ยินดี นางนึกน้อยใจและโกรธจึงตัดขาดจากความเป็นเพื่อนกัน นางอั้วเคี่ยมเมื่อรู้ข่าวก็เสียใจและไม่ยอมรับ โดยอ้างว่าขุนลางเป็นคนนอกศาสนา ไม่นับถือพระธรรม แต่มารดาได้ส่งแม่สื่อไปยอมรับคำสู่ขอนั้นและรับปากว่าจะปลอบประโลมนางอั้วเคี่ยมในภายหลัง
ฝ่ายท้าวขูลูได้บอกบิดามารดามาสู่ขอนางอั้วเคี่ยม แต่มารดานางอั้วเคี่ยมไม่ยินยอมโดยให้เหตุผลว่าได้รับหมั้นขุนลางไว้แล้ว ท้าวขูลูจึงขอให้บิดาส่งแม่สื่อมาขอพบนางอั้วเคี่ยมอีกครั้งและได้อ้างคำพูดที่เคยตกลงกันไว้สมัยก่อน คราวนี้มารดาท้าวขูลูเดินทางมาด้วยและทวงคำมั่นนั้น แต่มารดานางอั้วเคี่ยมกล่าวถึงความโกรธในครานั้นและขอคืนคำมั่นทั้งหมด ในที่สุดจึงตกลงกันว่าจะเสี่ยงทายสายแนนหรือรกห่อหุ้มทารก ซึ่งเชื่อกันว่าทุกคนจะมีสายรกพัวพันกันอยู่บนเมืองแถนก่อนมาเกิดและต้องเป็นคู่กันตามสายแนนนั้น ถ้าแต่งงานผิดสายแนนจะต้องหย่าร้างกัน และให้คนทรงทำพิธีเซ่นพระยาแถนและนำของไปถวายพระยาแถนเพื่อขอดูสายแนนของทั้งสอง พบว่าสายของทั้งสองพันกันอยู่ แต่ตอนปลายยอดด้วนและปลายแยกออกจากกัน ซึ่งแสดงว่าเป็นเนื้อคู่แต่อยู่กันไม่ยืดต้องพลักพรากในที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าสายแนนของท้าวขูลูมีแท่นทองอยู่ด้วยแสดงว่าเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อแม่สูนหรือนางทรงหรือนางเทียม กลับมาได้แจ้งความดังนั้น โดยบอกว่าทั้งสองต้องตายจากกัน ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันได้บางส่วน คือ มารดาท้าวขูลูจะส่งขันหมากมาสู่ขออีกครั้ง แต่มารดาของนางอั้วเคี่ยมกังวลที่ได้รับหมั้นขุนลางไปแล้ว ในที่สุดฝ่ายเมืองกาสีจึงลากลับ
ฝ่ายมารดานางอั้วเคี่ยมทราบว่าธิดาของตนได้ลักลอบพบกับท้าวขูลูที่อุทยาน นางโกรธมากจึงด่านางอั้วเคี่ยมว่าไปเล่นชู้ ไม่รักนวลสงวนตัว เสียพงศาเผ่าพระยา นางอั้วเคี่ยมเสียใจมากจึงผูกคอตายที่อุทยาน ความทราบถึงเจ้าเมืองและมารดาต่างก็เสียใจ ส่วนขุนลางก็ถูกธรณีสูบในคราวเดียวกัน
ท้าวขูลูทราบข่าวการตายเสียใจมาก คลุ้มคลั่งประจวบกับผีตายโหงเข้าสิงจึงคว้ามีดมาแทงคอตนเองตายในที่สุด
ย้อนไปในอดีตชาติ เนื่องจากท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมได้ก่อเวรไว้จึงต้องมาใช้เวรกรรมในชาตินี้คือไม่สมหวังในความรัก เพราะเมื่อชาติก่อนท้าวขูลูเป็นเจ้าเมืองเบ็งชอน (บัญชร) นางอั้วเคี่ยมเกิดเป็นมเหสีชื่อว่านางดอกซ้อน มีผัวเมียคู่หนึ่งไม่ยำเกรงนางดอกซ้อน นางโกรธมากจึงฟ้องเจ้าเมืองให้ลงโทษคนคู่นี้ เจ้าเมืองสั่งไม่ให้เป็นผัวเมียกัน หากพี่น้องคนใดชักนำให้มาอยู่กินเป็นผัวเมียอีกจะถูกประหาร ทำให้ทั้งคู่เสียใจมาก เมียผูกคอตาย ผัวใช้มีแทงคอตนเองตาย เวรกรรมจึงตามสนองท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมในชาตินี้ ท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมได้ไปเกิดบนสวรรค์ทั้งสองคนและได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเมืองกาสีและกายนครนั้นได้จัดพิธีศพโดยเผาคนทั้งสองพร้อมกัน สร้างพระธาตุบรรจุอัฐิทั้งสองไว้ที่เดียวกัน และกลับมาสมัครสามัคคีดังเดิม ท้าวขูลูและนางอั้วเคี่ยมได้แสดงอภินิหารให้ผู้คนชาวเมืองได้เห็น

 

 

สู่ขวัญแต่งงาน





สู่ขวัญแต่งงาน

ศรี ศรี มื้อนี้แม่นมื้อดี มื้อเศรษฐีอะมุตตะโชค โตกใบนี้แหม่นโตกไม้จันทน์ ขันอันนี้ แหม่นขันวิเศษ ผู้เหนือเกษป่อนลงมา เทวดาเอามาสู่ เอามาอยู่ในเคหา สองสามีภรรยาจักได้เกิด พระอินทรเปิดส่องพระแจ พระพรหมแลเผยพระโอษฐ์ ว่ามื้อนี้หายโทษทั้งมวล บรบวรทุกอย่าง ผู้เป็นช่างแต่งพาขวัญ มีทั้งมวนหมากเหมี่ยง พาขวัญเที่ยงใบศรี งามแสนดีเจ็ดชั้น แถนพ่อปั้น แต่งมานำ มีเงินคำพันไถ่ เอามาใส่พาขวัญ บรบวรถ่วนถี่ งามเอาหนี่จั่งเมืองแมน

ฝ้ายผูกแขนห้อยระย้า มาจากฟ้าเมืองพรหม มาเชยชมสององค์อ่อน เข้าบ่อนนอนหมูน หมอน สองเนานอนแขนก่าย ทั้งสองฝ่ายตกลง สองอนงค์ลูกของแม่ มาแหนแห่เฮือนหอ โคตรวงศ์ ยอขันโตก ถึกโฉลกเหลือตา ยกลงมาตั้งใส่ ขันโตกใหญ่ทองคำ เพชรมานำพลอยต่อ นิลมาก่อ ประดับนำ เงินและคำเต็มถาด หลายแสนบาทสินดอง เอามาฮองตกแต่ง บ่ได้แบ่งปันไผ สองหัวใจ มาอยู่ฮ่วม มาอยู่ร่วมเป็นหนึ่งแผ่นทอง คนทั้งสองสมเผ่า เป็นคู่เก่านำมา สองขวัญตามาพบพ้อ จั่งให้พ่อมาขอ จั่งได้ยอขันหมาก ไขคำปากว่าตกลง สมประสงค์ทั้งสองฝ่าย เอาขาก่ายเมียแพง

ผู้เป็นผัวอย่าแข็งคำเว้า เห็นพ่อเฒ่าแม่เฒ่าให้ยำเกรง ผู้เป็นเขยอย่าเสงเสียงปาก อย่า ไปถากคำจา คันไปไฮ่กะให้มา คันไปนากะให้ต่าว ฝั้นเชือกข่าวงัวควาย อยาตื่นสายลุกยาก อย่าได้ ปากเกินตัว ผู้เป็นผัวให้ฮักเมียจนแก่ ให้คือแม่ของโต อย่าพาโลเลาะบ้าน อย่าขี้คร้านนอนเว็น อย่า ไปเห็นสาวแก่ อย่าไปแก่กว่าวงศ์ อย่าไปโกงใส่โคตร อย่าเว้าโพดคันเห็น เฮ็ดบ่เป็นให้ถามไถ่ อย่า ไปใหญ่กว่าลุง อย่าไปสูงกว่าป้า อย่าไปด่าวงศ์วาน อย่าไปพาลพี่น้อง อย่าไปฟ้องซุมแซง

ผู้เป็นเมียอย่าแข็งปากเว้า ตื่นแต่เช้าก่อนผัวโต อย่าเสียงโวสุยเสียด อย่าไปเคียดไววา คันไปไฮ่กะ ฮีบมา คันไปนากะฮีบต่าว เห็นผู้บ่าวอย่าแซนแลน แซนแลน ยินเสียงแคนอย่าไปฟ้อน อย่าไปย้อนใส่เสียง กลอง อย่าจองหองใส่ปู่ย่า อย่าไปด่าอาวอา คันไปมาให้คมเขี่ยม อย่าให้เสื่อม ซุมแซง อย่าไปแฮงฟืดฟาด อย่า ประมาทปู่ย่าโต อย่าไปโสความเก่า อย่าไปเล่าความเดิม อย่าไป เสริมผู้อื่น อย่าไปตื่นเสียงคน อย่าไปวนของ เผิ่น คันเผิ่นเอิ้นจั่งขาน คันเผิ่นวานจั่งส่อย


ให้ไปค่อยมาค่อย เห็นโคตรเห็นวงศ์ อย่าไปโกงเถียงพ่อเถียงแม่ เห็นคนแก่ปากเว้าจาไข อย่าจัญไร ป้อยผีป้อยห่า อย่าไปด่าพี่น้องทั้งผัว อย่าเมามัวสุราเบี้ยโบก ยามขึ้นโคกหาฟืนหาตอง อย่าเสียงหองร้องเพลง แอ๋นแอ่น อย่าได้แล่นป๋าหมู่ป๋าฝูง คันเห็นลุงให้ว่ากะบาด อย่าได้ขาดความ เว้าขานไข ไปทางได๋อย่าได้ช้า คันเห็นป้าให้ว่าคือลุง อย่าหัวสูงไปหมอบมาหมอบ อย่าว่าปอบผีห่า ผีภู อย่าซูลูเอาของบ่อบอก อย่ากลับกลอกปู่ ย่าวงศา ยามไปมาให้วนเวียนแว่ ฮักคือพ่อคือแม่ปู่ย่า ของโต อย่าพาโลต๋อแหลหลอนหลอก อย่าไปบอกใช้สิ่งเอาของ ผิดูธรรมนองครองของลูกใภ้ กว่าสิได้ลูกเผิ่นมาแยง อย่าเว้าแข็งคำหวานโอนอ่อน

ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญสองเจ้าให้มาถ่อนมาอยู่นำกัน อย่าไปปนคนธรรพ์ในป่า อย่าไป ท่าน้ำหลากไหลแฮง อย่าไปแยงผาชันพันยอด ว่ามาเยอขวัญเอย สองเจ้าจ่งมากอดเป็นมิ่งสาย แนน เอาสองแขนจับกันไว้แน่น ขวัญเจ้าแล่นไปไกล ขวัญเจ้าไปในป่า ขวัญเจ้าหนีลงท่าไปเฮือ ขวัญเจ้าไปเมืองเหนือและเมืองลุ่ม ขวัยเจ้าไปอยู่พุ่มเฟือยหนาม ขวัญเจ้าไปนาทามนาฮ่อง ขวัญ เจ้าไปหลงป่องทางมา ขวัญเจ้าไปตามหาสาวบ่าว ขวัญบ่ต่าวคืนมา ขวัญไปคาอยู่ในเงื้อม อยู่ใน เหลื่อมผาชัน กะให้มาสามื้อนี้วันนี้

ขวัญเจ้าไปอยู่ลี้เมืองหงสา ขวัญบ่มาอยู่พม่า ขวัญไปค้าอยู่เมาะลำเลิง ขวัญไปเหิงบ่ต่าว กะให้มาสามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปอยู่ถ้ำเมืองแกวไม้ล้มแบ่ง ขวัญเจ้าไปแห่งแห้งทางก้ำฝ่ายเขมร กะให้มาสามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปทางก้ำเมืองเชียงตุงจีนตาด ขวัญเจ้าไปชมตลาดกว้างกวางตุ้ง ให้ดุ่งมา ขวัญเจ้าไปหาค้นแพรลาย ๆ พายถงย่าม เห็นงาม ๆ อย่าได้ใกล้ไปแล้วให้ต่าวมา ว่ามา เยอขวัญเอย ขวัญเจ้าไปทางใต้เมืองสุไหงตัดท่ง เมืองเบตงอยู่หย่อน ๆ อย่านอนค้างให้ต่าวมา

ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญแข่งให้เจ้าย่างลีลา ขวัญขาให้เจ้ามาลีล้าย ๆ มานอนนำอ้าย ผู้เป็นผัว มากินนัวจ้ำป่น ผัวพาก่นขุดตอ ผัวพายอเงินล้าน มาอยู่บ้านดอมกัน ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญสองเจ้าเฮ็วพะลันมาด่วน พากันชวนฮ่วมห้องนอนซ้อนหน่วยหมอน มาอยู่ซ้อนซอนห่มลม หนาว ว่ามาเยอขวัญเอย เมียนอนต่ำ ผัวให้นอนสูง เตียงไม้ยูงพ่อแม่แต่งไว้ เผิ่นแต่งให้ม่านใส่ทั้ง สอง หมอนมาฮองเฮียงกันเป็นคู่ เผิ่นให้อยู่นำกันอย่าหนี หลายนานปีจนแก่จนเฒ่า ขวัญหมู่เจ้าให้ แล่นมาเยอ

ว่ามาเยอขวัญเอย มาอยู่เฮือนหลังใหญ่ เผิ่นปลูกใส่เป็นเฮือนหอ เผิ่นปลูกยอเป็นของ อ่อน ปลูกไว้ก่อนคอยบุตตา พากันมาอย่าชักช้า มาอยู่ห่มเฮือนงาม มาอยู่ผามหลังอาจ แม่ปูสาด ทั้งหมอนลาย ของกินหลายเหลือหลาก บ่อึดอยากแนวใด๋ ว่ามาเยอขวัญเอย มาไว ๆ มาหาพ่อ มาหาแม่ พวกเฒ่าแก่อาวอาเผิ่นกะมาคอยอยู่ มาฮอดปู่คอยหลาน ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญเจ้าไป อย่าอยู่นาน อย่าไปพาลกับหมู่ จงมาอยู่ดอมกัน จวงจันท์หอมตกแต่ง กาบบัวแบ่งอยู่ซอนลอน ตาออนซอนเตียงตั่ง มีบ่อนนั่งเซามีแฮง คอยจอมแพงสองหน่อ ปานแถนหล่อแถนลอ มาโฮงหอ อย่าได้ช้า ทั้งช้างม้าแลงัวควาย ตาเว็นสวยมันสิฮ้อน ให้มาก่อนอย่าไปไกล อย่าไปใสตาเว็นค่ำ ตกใต้ต่ำมัวเมา

ว่ามาเยอขวัญเอย จงมาเซานำพ่อ จงมาก่อแบ่งสาน มาอยู่ซานอย่าห่าง อยู่ตะหล่าง เฮือนโต ว่ามาเยอขวัญเอย มาเชยชมในห้องเตียงทองบ่อนเผิ่นแต่ง สองจอมแพงให้ต่าวโค้ง มา ถ่อนอย่าสุนาน จงสำราญด้วยคาถาว่า อเนกเตโช ไชยะตุ ภะวัง ไชยะมังคะลัง สุขังพะลัง อาวาหะ วิวาโห สุมังคะโล โหตุ สาธุฯ




คำผูกแขนแต่งงาน

  • ผูกแขนฝ่ายชาย ศรี ศรี วันเดือนปีข้ามล่วงแล้ว จนลูกแก้วใหญ่สูง ฝูงป้าลุงและพ่อแม่ ทั้งเฒ่าแก่และตายาย มากันหลายพร่ำพร้อม มาโอบอ้อมจัดแต่งงาน ตามกาลเวลาแถน กำหนดไว้ แต่งแล้วให้ประพฤติธรรม จั่งสินำครอบครัวไปม้มฝั่ง ให้มีใจดุจดังแม่น้ำในนที อันมีคุณสมบัติ 4 ข้อ

  • ข้อ 1. นั้น น้ำสะอาดบริสุทธิ์ คันแม่นเฮาลงมุด สะอาดดีโดยแท้

  • ข้อ 2. นั้น น้ำหากปรับโตได้ เป็นหยังได้ทุกอย่าง ฮูเล็ก ๆ น้อย ๆ ไหลเข้าได้สู่แจ

  • ข้อ 3. นั้น น้ำหากเย็นแท้ แก้หอดหิวกระหาย กินลงไปหอดหิวหายจ้อย

  • ข้อ 4. นั้น น้ำหากสามัคคีแท้รวมกันโดยง่าย เอามีดตัดซ๊วบแล้วประสานเข้าได้ ง่ายดาย

ทั้ง 4 ข้อ ดีงามยอดยิ่ง ขอให้ใจพวกเจ้าคือน้ำจั่งแม่นครอง อุ อะ มุ มะ มูล มา มหา มูลมัง สะวาหุมฯ

  • ผูกแขนฝ่ายหญิง โอมแม่คนดียอดแก้ว ผู้เลิศแล้วชื่อว่าแม่ธรณี เป็นผู้มีฤทธีอานุภาพ แม่ หากปราบพญามาร ได้ร่วมบุญสมภารของพระพุทธเจ้า มื้อพระเจ้าตรัสส่องสรญาณ ฮีดผม เป็นน้ำท่วมพญามารจมจุ่ม น้ำทุ่มท่วมมารล้มท่าวตาย
    อันหนึ่งนั้นแม่หากมีใจกว้างเปรียบแผ่นธรณี แม่นสิมีผู้ขี้ผู้ขุดผู้ก่น เหยี่ยวใส่พร้อม น้ำลายซ้ำถ่มแถม แม่บ่ได้เคียดคล้อยชังเกลียดคนใด ขอให้เจ้าคือแม่ธรณี จั่งสิเป็นคนดี ครอบครองสมบัติได้ จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลังฯ สาธุ


สู่ขวัญนาค


ศรี ศรี สุมังคะละ ศุภะสวัสดี อดิเรกไชยศรี สวัสดีจงมีแก่ผู้ข้าทั้งหลาย ทั้งเทพานาค ครุฑ เทวบุตร เทวดา อินทร์พรหม ยมราช ผู้องอาจกล้าหาญ จงได้บงการลงมาสู่ ลงมาอยู่เป็นชัย มงคลอันวิเศษ มื้อนี้พระเกตุ

เข้าสู่ราศรี เป็นวันดีสุดขนาด อินทภาสพร้อมตรียางค์ ทั้งนวางค์คาด คู่ ตั้งเป็นหมู่สอนลอนสอนลอน พระอาทิตย์จรจันทร์ฤกษ์ อังคารถึกมหาชัย พุธพฤหัสไปเป็นโยค ศุกร์เสาร์ได้อมุตโชคพร้อมลัคนา อันนี้ตามตำราว่าได้ฤกษ์ ถึกหน่วยว่าอุตมะราศรี

วันนี้เป็นวันดีอันประเสริฐ ถือว่าเลิศเป็นมุงคุล ปุนแปลงดีแต่งแล้วพาขวัญแก้วยกมา มีทั้งท้าวพระยา เสนาอำมาตย์ ทั้งนักปราชญ์มวลมา มีลุงตาพ่อแม่ มีเฒ่าแก่วงศา พร้อมกันมา ไหลหลั่ง มาโฮมนั่งอยู่สอนลอน ตาสะออนบุญหลายหลาก บ่พลัดพรากไปไกล มารวมใจชมชื่น ญาติบ้านอื่นมาหา จั่งได้ลาบิดามารดาออกบวช หวังไปสวดบำเพ็ญศีล ดั่งพระอินทร์ถวายบาตร พรหมราชยอพาน ถวายทานพระศรีธาตุ คราวพระบาทออกไปบรรพชา อยู่ฝั่งน้ำอโนมาพร้อม นายฉันท์และม้ามิ่ง ลายอดแก้มปิ่งสิ่งพิมพา ทั้งราหุลออกบวช ไปผนวชเป็นคนดี เจ้ามีใจในธรรม อันล้ำเลิศ ก่อนสิได้มาเกิดจากท้องมารดา ได้เลี้ยงมาเป็นอันยากเลี้ยงลำบากทุกวันคืน แม่ทนฝืน หนักหน่วงท้อง นอนเก้าเดือนเฮ็ดล่องง่องอยู่ในครรภ์

แสนรำพันฮักห่อ ลูกของพ่อดั่งดวงตา ออกจากท้องมารดาลูกเกิดมาเลิศแล้ว ได้ลูกแก้ว แม่นผู้ชายฝูงตายายก็ชมชื่น ยอยกยื่นเจ้าออกมา ญาติก็มาเอาผ้าห่อ ผู้เป็นพ่อฮักเหลือหลาย ตา กับยายเอาอาบน้ำ ทุกค่ำเช้าให้กินนม แม่นอนซมพ่อนอนกอด หอมแก้มฟอดยามไปมา ฮักดั่งตา ลูกแก่นไท้ เลี้ยงเจ้าใหญ่เป็นหนุ่มมา อยู่ชายคาเพียรอ่อน ชะส่อนหน้าใหญ่เป็นคน บ่ได้จนจักอย่าง บ่ได้ห่างไปไกล บ่ได้ไหลหนีจาก แสนลำบากเหลือหลาย ลูกผู้ชายจั่งได้บวชในศาสนา เจ้าก็คิดถึง คุณบิดามารดาเป็นอันยิ่ง จัดทุกสิ่งหามา เจ้าก็ลาพ่อแม่ ฮอดเถ้าแก่วงศ์วาน ได้จัดการพวกพี่น้อง ทั้งพวกพ้องมิตรสหาย บางผ่องศรัทธาหลายได้เสื่อสาด มีทั้งบาตรแลจีวร ตาออนซอนทั้งผ้าพาด ได้ไตรอาจบริขาร มาในงานบริโภค ได้ทั้งโตกถ้วยและคันที


เหล็กจานดีอันคมกล้า อันล้ำค่าบริขารสละทานบ่อึดอยาก มีหลายหลากมารวมกัน เผื่อ อยากเห็นพระจอมธรรมยอดแก้ว ยังบ่แล้วพระเมตไตย์ จอมพระทัยสุดยอด ทานตลอดกองบุญ เพื่อจักหนุนชูส่ง ญาติบ้านท่งบ้านใกล้และบ้านไกล มาโดยไวบอกข่าว ญาติบอกกล่าวกองบุญ หวังเอาคุณพระเจ้า ลูกหน่อเหง้าบรรพชา หวังให้พ้นโทษาและอนุโทษ ละความโกรธและความหลง จั่งได้ลงกองบวช อุปัชฌาย์จั่งได้สวดนิสัย ตามธรรมเนียมอยู่ในโบสถ์ ให้หายโทษที่จองจำ ทั้งเงิน คำออกจับจ่าย เป็นหนี้ไถ่ถอนหนี บ่ให้มีจักอย่าง ของต่าง ๆ ตัดหนี บ่ให้มีจักสิ่ง เป็นแก้วมิ่งพรหม- จรรย์ มารวมกันสุขสำราญฤาเดช ขอให้พ้นจากทุกข์เจตน์อยู่สวัสดี

จัตตาโร ธัมมา วุฒิธรรมทั้งสี่ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ อะโรคา ถ้วนทั้งสี่ ปฏิภาณอัน ถ้วนหก อธิปไตยอันถ้วนเจ็ด จงเสด็จมารักษา ว่ามาเยอขวัญเอย ข้อยจักเชิญเอาขวัญมาเฮ้า ข่อย จักเต้าเอาขวัญนาคมาโฮม ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญเจ้าลงไปเล่นนะทีทองเมืองนาค นางสนมหนุ่ม น้อยชมช้อนให้ต่าวมา ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญเจ้าไปเที่ยวเล่นชลธารอโนดาด ขวัญเจ้าไปเที่ยว เล่นกระแสน้ำฝ่ายไกล ขวัญเจ้าไปเที่ยวเล่นยมนาลอยล่อง ขวัญเจ้าไปเที่ยวห่องห้วยหาซ้อนหมู่สาว

ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัยเจ้าเคยไปค้างทางไกลเกาะแก่ง ขวัญเจ้าไปแห่งห้องสมุทรกว้าง ข่วงนะที ขวัญเจ้าไปอยู่ลี้นำหลืบหินผา ขวัญเจ้าไปชมขี่มัจฉาลอยเล่น ขวัญเจ้าไปวังกว้างให้มา เด้ออย่าได้อยู่ อย่าได้ป๋าพ่อแม่ไว้ทางพี่เผิ่นคอง ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญเจ้าอย่าได้ไปเดินเล่นไพร คีรีนอกเขต ขวัญเจ้าอย่าได้เดินประเทศเที่ยงทางไกล อย่าหลงไหลไพรป่า ขวัญเจ้าอย่าได้ไปซม หมู่ลิงและค่างเฒ่า หมู่นกเค้าแลเสือสิงห์ ควายกระทิงและแฮดซ้าง ว่ามาเยอขวัญเอย ให้เจ้าเข้า มาอยู่เข้ามาสู่ชายคา ให้เจ้ามาเตรียมตัวบวช ให้มาเข้าผนวชเป็นสงฆ์ ให้เจ้าลงมาอยู่ลงมาสมสู่ สังฆา ปฏิมายอดแก้ว ใจผ่องแผ้วเหลือหลาย ยามเดือนหงายอย่าได้ล่วง ให้เจ้าห่วงครองธรรม ให้ เจ้านำครองปู่ ให้มาอยู่จำศีลให้มากินข้าวบาตร มานั่งอาสน์นำสงฆ์ให้มาลงในโบสถ์ ละความโกรธ และโทษา ให้เจ้าได้เทศนาสอนสั่ง เป็นเจ้านั่งเป็นสมภาร ให้ได้เป็นอาจารย์นักบวช ให้ได้สวด ปาฏิโมกขัง ให้เจ้าฝังในศาสน์ ให้ฉลาดเหลือคน

ว่ามาเยอขวัญเอย จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุวัณโณ สุขัง พะลัง ขอให้เจ้าอายุยืนยาว วรรณาขาวผิวผ่อง ผิวเจ้าคองงามงอน คนสะออนครองผ้า งามสง่าถือศีล ไผได้ยินเสียงเทศน์ ประณมเกษเกษา ให้ลือชาศาสนาของพระพุทธเจ้า ให้นาคเจ้ามีเดชะ ให้ชนะฝูงมาร เป็นอาจารย์ ผู้วิเศษละกิเลสหายหนี ดั่งอินทราธิราชเจ้าภูมินทร์ ทั้งแดนดินโอยออนน้อย ทุกท่านพร้อมสาธุการ มาอวยพรชมชื่นให้เจ้ามีความรู้หลื่นสมภาร ไหว้อาจารย์ทุกเมื่อ

เฮืองเฮือแก้วเงินคำ บูชาธรรมอย่าได้ขาด ให้ฉลาดพระวินัย ให้สดใสปานแหวน ให้ถึง แก่นคำสอน คนสะออนซมซื่น ให้เจ้าหลื่นมนุษย์และเทวา อย่าได้คาขัดข้อง ให้เจ้าท่องพระบาลี ให้มีหวังครองสืบสร้างธุระอ้าง 2 ประการ เฮียนกรรมฐานให้ถี่ถ้วน ครบสิ่งล้วน 8 หมื่นสี่พันพระ ธรรมขันธ์ ด้วยปัญญาเร็วพลันตรัสส่อง สมองปล่องเร็วไว ศีลสดใสบ่ประมาท มีอำนาจในศาสนา อย่าโสกาโศกเศร้า ให้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าสืบพระศาสนา ด้วยพระคาถาว่า ไชยะตุ ภะวัง ไชยยะมังคะลา ไชยยะมหามุงคุล หนุนกันมาเนืองแน่นให้ได้นั่งแท่นแก้วเป็นเอกสังโฆ มียโส เกียรติก้อง จบในห้องกัมมัฏฐาน มีอรหันต์เป็นเค้า เข้าสู่นิรพาน ก็ข้าเทอญฯ สาธุ

คำผูกแขนนาค หิเนนะ พรัมมะจริเยนะ ขัตติยัง อุปะปัชชะติ มัชฌิเมนะ เทวัตตัง อุตตะเมนะ วิสุชฌะติ ฝ้ายเส้นนี้แม่นฝ้ายมุงคุล พระจอมบุญพุทธเจ้า เอามาให้ผูกแขน หลาน ให้เจ้าบวชนาน ๆ เป็นเถระเจ้า ให้เจ้าเป็นพระผู้เฒ่าผู้ทรงคุณ คนมาหนุนทุกค่ำเช้า ให้เจ้า ได้สอนลูกเต้าพอแสนคน ทศพลอันผ่านแผ้ว คือพระไตรปิฎกแก้วให้เลื่อนไหล นำสัตว์ไปข้ามโลก ให้เข้าพ้นจากโอฆะสงสาร ให้ไปถึงนิรพานทุกคน ทุกคน ก็ข้าเทอญฯ ชะยะสิทธิ ภะวันตุ เตฯ

ผีตาแฮก

ผีตาแฮก

แม่โพสพ

แม่โคสก หรือ แม่โพสพ

line

ผีตาแฮก : ความเชื่อของชาวนาอีสาน การปลูกข้าวในยุคสมัยต่าง ๆ ตามแบบแผนวิถีชีวิตของคนไทย มุ่งปลูกข้าวเพื่อบริโภค เป็นหลัก เหลือบริโภคก็เก็บไว้ในยุ้งฉาง จะนำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่น ๆ บ้าง ก็เฉพาะสิ่งที่จำเป็น จริง ๆ เช่น แลกกับเสื้อผ้า อาหาร เกลือ ยารักษาโรค แต่ไม่นิยมขายข้าว ไม่แลกเปลี่ยนข้าวกับ เครื่องประหัตประหาร ทั้งนี้เพราะคนไทยเชื่อว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ มีเทพธิดา ชื่อว่า "แม่โพสพ" ประจำอยู่ ในท้องถิ่นบางแห่งเรียกว่า "นางโคสก" หรือ "แม่โคสก" เชื่อกันว่า นางมีอิทธิฤทธิ์สามารถดลบันดาลความสมบูรณ์พูนสุขแก่ผู้ปฏิบัติชอบต่อนางได้ และถ้าปฏิบัติ ไม่ดีจะได้ผลตรงข้าม ในอดีตหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแต่ละปี ชาวบ้านจึงต้องจัดพิธีบายศรี สู่ขวัญให้นาง และปฏิบัติต่อนางอย่างเคารพนอบน้อม

เทพเจ้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวและการทำนา
การทำนาให้ได้ผลดีนั้นจะต้องถือปฏิบัติเคารพบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของ ชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น เทพเจ้า เทวดาอารักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งการปฏิบัติบูชาเซ่นไหว้ก็จะทำในโอกาสหรือวาระต่าง ๆ กัน เช่น พิธีจรดพระนังคัญแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีหลวง จัดขึ้นเพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจแก่คนในชาติ ส่วนคนในท้องถิ่นอื่นก็จะมีพิธีกรรม แตกต่างกัน สำหรับคนอีสานแล้วจะยึดถือเทวดา ภูตผี ดังนี้

ตาแฮก หรือ ผีตาแฮก
ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผีเฝ้าไร่นา เมื่อชาวบ้านเข้าหักร้างถางพง เพื่อแปรสภาพที่ดินไปเป็น ที่นา พวกเขาจะทำพิธีเชิญผีตาแฮกตนหนึ่งมาเป็นผู้เฝ้ารักษาที่นาและข้าวกล้า แต่ละปีเจ้าของนา จะต้องทำพิธีเซ่นสังเวยก่อนลงไถนา และเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว จะต้องแบ่งข้าวสี่เกวียน (จำลอง เล็กๆ) ให้แก่ผีตาแฮกด้วย
ตาปู่ หรือ ปู่ตา
เป็นผีประจำหมู่บ้านอันเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน การสร้างหมู่บ้านจะต้องทำศาล ปู่ตา แล้วทำพิธีอัญเชิญปู่ตาซึ่งถือเป็นผีบรรพบุรุษ ให้มาอยู่ทำหน้าที่คอยพิทักษ์รักษามนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารในหมู่บ้านให้ปลอดภัย การติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้านจะผ่านตัวแทน คือ คนทรง หรือที่เรียกว่า "จ้ำ" เมื่อถึงเดือนหก (ประมาณเดือนพฤษภาคม) ทุกปีจะมีพิธีบวงสรวง ปู่ตา และเสี่ยงทายเรื่องความสุขสบาย ความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้าน และทำนายปริมาณน้ำฝน ในปีนั้น ๆ
แถน
เป็นเทวดาหรือผีฟ้าอยู่บนสวรรค์ มีอำนาจบันดาลให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ แก่มนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารบนโลกได้ ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือแถนมาก ยามทุกข์ร้อนสิ่งใด มักจะบนบานให้แถนช่วยเหลือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำนา คือ ชาวบ้านเชื่อว่า แถนมีอำนาจสั่ง ให้ฝนตกได้ แต่ละปีจึงมีพิธีจุดบั้งไฟบูชาแถน เพื่อให้แถนสั่งให้ผู้มีหน้าที่ทำให้ฝนตก เช่น นาค พระพิรุณ ประทานฝนลงมาให้

 

นาค
เป็นสัตว์ในอุดมคติที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในโลกบาดาล งานหรือหน้าที่ของนาค คือ การพ่น ฝนให้ตกลงในจักรวาลนี้ อันประกอบด้วยมหาสมุทร มนุษย์โลก และป่าหิมพานต์ นาคเกี่ยวข้องกับ การทำนาในส่วนที่เป็นผู้ทำให้น้ำฝนตกลงในมนุษยโลก ทำให้มนุษย์ได้ทำนา นอกจากนี้ยังมีนาค อีกจำพวกหนึ่งที่เรียกว่า "นาคทรงแผ่นดิน" เมื่อทำพิธีแรกไถนา ชาวนาต้องดูวัน เดือน ปี และทิศ ที่จะบ่ายหน้าควาย ต้องไม่ให้ควายลากไถไปในทิศที่ทวนเกล็ดนาคหรือเสาะเกล็ดนาค เพราะถ้า เป็นอย่างนั้นการทำนาในปีนั้นจะทำให้เกิดอุปสรรคต่าง ๆ ขึ้น
นางธรณี
ชาวบ้านเชื่อกันว่า นางธรณีหรือแม่ธรณีเป็นเทพเจ้าแห่งพื้นดิน ก่อนจะไถนาหรือปลูก ข้าว ต้องบอกกล่าวขออนุญาตต่อนางเสียก่อน และทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยพาหวาน (มีข้าวนึ่ง ไข่ไก่) 1 พา และขอให้นางธรณีช่วยปกป้องรักษาข้าวในนา อย่าให้มีศัตรูมาเบียดเบียน และขอให้ได้ทำนา ด้วยความสะดวกสบายตลอดฤดูกาล





พิธีแฮกไถนา

การแรกไถนาทำในเดือนหกวันฟูเวลาเช้า เจ้าของนาเป็นผู้ทำพิธี เทพเจ้าหลักที่อ้างถึงใน พิธีนี้คือ นางธรณี หรือ ผีตาแฮก แล้วแต่ใครจะนับถือองค์ไหน เทพเจ้าประกอบได้แก่ พระภูมิเจ้าที่ และ รุกขเทวดา กระทำพิธีในนาแปลงใดก็ได้ องค์ประกอบในพิธีมี พาหวาน 4 และ พายา 4 กอก (กรณี นับถือตาแฮก) องค์ประกอบนี้เปลี่ยนแปลงไปตามข้อปฏิบัติของแต่ละบุคคล วิธีทำ นำเอาเครื่องประกอบเหล่านี้ไปเซ่นสังเวยบอกกล่าวว่า มื้อนี้เป็นมื้อสันต์วันดี จะทำการแฮกไถนา ขอให้เทพเจ้า (ออกชื่อ) จงช่วยคุ้มกันรักษา ขยับขยายที่ให้ได้ทำนา อย่างสุขสบาย แล้วเริ่มไถนาในทิศทางที่ตามเกล็ดนาค (ห้ามไถทวนเกล็ดนาค) ไถวน จำนวน 3 รอบแล้วหยุด ปล่อยควาย เป็นการเสร็จพิธี วันต่อไปจึงเริ่มไถเป็นปกติได้ พิธีนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เทพเจ้าคุ้มครองรักษาทั้งคน สัตว์ ข้าวกล้า และขออนุญาตต่อเทพเจ้า เพื่อเตรียมดินปลูกข้าวในปีนั้น ๆ ตามความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมา

พิธีแฮกดำนา หรือปลูกข้าวตาแฮก

การเลี้ยงผีตาแฮก


จัดขึ้นประมาณเดือนเจ็ดหรือเดือนแปด (มิถุนายน - กรกฎาคม) วันประกอบพิธีต้องเป็น วันฟู หรือวันจันทร์ หรือวันพฤหัสบดี หรือวันเกิดของเจ้าของนา แล้วแต่ใครจะเลือกนับถือ ทำพิธี เวลาเช้า พ่อบ้านหรือแม่บ้านเป็นผู้กระทำ เทพเจ้าที่อ้างถึงได้แก่ ผีตาแฮก หรือ นางธรณี แล้วแต่ ใครจะนับถือรูปใดก็บูชารูปนั้น สถานที่ที่ปลูกข้าวตาแฮกนั้นให้เลือกเอาบริเวณที่ใกล้ ๆ กับโพนนา (จอมปลวก) หรือใกล้กกไม้

การปักดำตาแฮก

วิธีทำ เตรียมดินให้กว้างพอจะปลูกข้าวแฮกประมาณ 7 หรือ 14 กอ แล้วสร้างร้านสี่เสา เล็ก ๆ ขึ้นพอจะเป็นที่วางเครื่องสังเวยได้ เอาเครื่องสังเวยซึ่งเป็นเช่นเดียวกับพิธีแฮกไถนาวางบน ร้าน จากนั้นจึงกล่าวคำอ้อนวอนว่า "มื้อนี้มื้อสันต์วันดี พวกข้าจะมาปักแฮก ขอให้ตาแฮก (หรือนางธรณี) ช่วยคุ้มครองรักษาให้ข้าวกล้าในนางอกงาม ไม่มีพวกช้าง พวกควาย หรือ ไพร่พลมาทำลาย" แล้วจึงปักข้าวแฮก 7 หรือ 14 กอ ตามแต่นับถือ เป็นอันเสร็จพิธี
เป้าหมายของพิธี คือ ต้องการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองข้าวกล้าให้งอกงาม ไม่มีโรคภัยมา เบียดเบียน สำหรับกรณีผู้นับถือตาแฮกจะบนบานว่า หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วจะแบ่งข้าวที่ได้ให้ ตาแฮก 4 เกวียน (เกวียนจำลอง)


พิธีเลี้ยงผีปู่ตาหรือผีตาปู่


จัดขึ้นในเดือนหก (ประมาณเดือนพฤษภาคม) วันพุธ (จะเป็นวันพุธสัปดาห์ไหนก็ได้) ตอนเช้า พิธีนี้มี "จ้ำ" เป็นผู้ดำเนินการ โดยป่าวประกาศให้ลูกบ้านทราบว่าจะทำพิธีวันไหน และให้ ลูกบ้านบริจาคเงิน ข้าวของตามศรัทธาให้แก่จ้ำ เพื่อจะได้นำไปซื้อเครื่องเซ่นมาทำพิธี ซึ่งมีไก่ 3 ตัว เหล้า 1 ขวด บุหรี่ ยาสูบ หมาก ผ้าซิ่น ดอกไม้ และธูปเทียน

การเลี้ยงผีปู่ตา

เมื่อถึงวันพิธี ชาวบ้านทุกครอบครัวไปร่วมงาน ซึ่งจัดขึ้นเวลาเช้า ณ ศาลปู่ตาประจำ หมู่บ้าน ในพิธีมีการเสี่ยงทายโดยใช้ไก่ 3 ตัว เป็นเครื่องเสี่ยงทาย 3 กรณี คือ

  • ไก่ตัวที่ 1 เสี่ยงทายเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์

  • ไก่ตัวที่ 2 เสี่ยงทายเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศ

  • ไก่ตัวที่ 3 เสี่ยงทายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงและพืชพันธุ์

โดยดูจากลักษณะปลายขากรรไกรล่างทั้งสองข้างของไก่ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง การเสี่ยงทายอีกประการหนึ่ง คือ การเสี่ยงทายฟ้าฝนด้วยไม้วา โดยเอาไม้มาหนึ่งท่อนขนาดยาว 1 วาของจ้ำ (ผู้กระทำพิธี) นำมาเข้าพิธี โดยอธิษฐานว่า ถ้าฝนดีขอให้ไม้นี้ยาวกว่า 1 วาของจ้ำ ถ้า ฝนแล้งขอให้ไม้สั้นกว่า 1 วาของจ้ำ เมื่อทำพิธีอธิษฐานแล้วก็เอาไม้มาวัดเทียบกับวาของจ้ำ แล้วให้ ทำนายตามผลที่ปรากฏ
ส่วนการทำนายตามลักษณะไก่ คือ ดึงเอาขากรรไกร (ปากล่าง) ของไก่ที่บูชาตาแล้ว ออกมา แล้วดูว่าปลายขากรรไกรทั้งสองข้าง (ซึ่งมีลักษณะเป็นสองง่าม) เป็นอย่างไร

  1. ถ้าปลายง่ามห้อยตกลงหรือไม่เสมอกัน หมายถึงในปีนั้นสัตว์เลี้ยงจะไม่สบาย เกิดโรค ถ้าเกี่ยวกับคนทายว่าจะแตกความสามัคคี เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็จะไม่สมบูรณ์

  2. ถ้าง่ามขากรรไกรทั้งสองข้างยาวเท่ากัน จะหมายถึงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสัตว์เลี้ยง ผู้คน และพืชพันธุ์

  3. ถ้าขากรรไกรมีสีขาว แสดงว่า ฝนแล้ง

  4. ถ้าขากรรไกรมีสีดำ แสดงว่า ฝนฟ้าดี

พิธีเลี้ยงผีปู่ตาเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำนาปลูกข้าวอย่างใกล้ชิด ผลคำ ทำนายเป็นเช่นไร ชาวบ้านมักจะนำไปเป็นข้อมูลในการเตรียมตัวทำนาในปีนั้น ๆ นอกจากนั้นปู่ตา ยังมีความสำคัญกับหมู่บ้านเพราะเป็นที่พึ่งทางใจ เป็นผู้อนุรักษ์ป่าไม้ชุมชนของหมู่บ้านนั้น ๆ ให้ ยังคงอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงชุมชนตราบเท่าลูกหลาน

ในปัจจุบันนี้ เมื่อความเจริญคืบคลานเข้ามามากๆ เรื่องของดอนปู่ตาก็อาจจะจางหายไปในหลายๆ หมู่บ้าน ด้วยเหตุที่ดอนปู่ตาไปอยู่ในเส้นทางของการพัฒนาตัดถนนหนทางให้กว้างขวาง (ไม่ได้ตัดอ้อมเหมือนทางเกวียน) เราจึงได้ยินว่า ผีปู่ตามาเข้าฝันเถ้าจ้ำบอกว่า "เห็นจะอยู่ที่เดิมไม่ได้เสียแล้ว เพราะโดนเจ้ากุดจี่ทอง (รถแทรกเตอร์) มันไถดุนจนบ้านเจ้าปู่พังทลาย ทั้งๆ ที่เจ้าของของมัน (คนขับรถไถ) ก็พยายามดึงบังเหียน (คันบังคับรถ) ไว้อย่างสุดแฮงก็เอาไม่อยู่ ยิ่งดึงมันยิ่งมุดเข้ามาไถโพนและบ้านของข้าจนพังทลายแล้ว"