วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กลอนพุทธภาษิต


อนตฺถชนโต โกโธ
(ความโกรธก่อความพินาศ)
ความฉุนเฉียวนั่นน่ะหรือคือความโกรธ
ย่อมเกิดโทษก่อพินาศขาดเหตุผล
มีแต่ทุกข์วอดวายฉิบหายตน
ดวงกมลเศร้าหมองปองนรก

สุขา สงฺฆาวาสสามคฺคี
(ความพร้อมเพียงของหมู่ให้เกิดสุข)
ถ้าหมู่ใดมีความพร้อมเพรียงกัน
ในหมู่นั้นก็เจริญเพลิดเพลินผล
ให้เกิดสุขสมหมายคลายกังวล
เพราะทุกคนสามัคคีต่อกัน

กาญฺจนา นิสฺสาย ชีเวยฺย
(ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่)
การอาศัยผู้อื่นหวังชื่นจิต
เลี้ยงชีวิตร่ำไปไร้ความหมาย
ขี้เกียจทำการงานหาญเป็นนาย
ความสบายก็ไม่พบจบโลกา

ปญฺจมี นราธิป รตนํ
(ปัญญาเป็นรัตนะของนรชน)
ดวงปัญญาพาสร้างทางชนะ
เช่นรัตนะนรชนผลสนอง
เห็นดวงแก้วแววใสไร้ละออง
ใช้สอดส่องขุมทรัพย์กลับร่ำรวย

ปญฺจมี เจ นํ ปสาสติ
(ปัญญาย่อมปกครองบุรุษนั้น)
มีปัญญาพาตนให้พ้นผิด
รู้จักคิดเหตุผลพ้นกังขา
ทำอะไรเหมาะเจาะเพราะปัญญา
ช่วยรักษาปกครองเจ้าของนั้น

อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก
(ความไม่เบียดเบียนเป็นสุขในโลก)
ไม่เบียดเบียนเฆี่ยนฆ่าผูกอาฆาต
อยู่ด้วยความไม่ประมาทปราศสมร
ไม่อิจฉาริษยาประชากร
ก็สมพรสุขใจในโลกา

มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกํ
(คนเปล่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน)
หากใดใครเปล่งวาจาชั่ว
จะพาตัวเดือดร้อนนอนสนาม
มีดวงจิตไม่ใสสุกทุกโมงยาม
มักลวนลามก่อเรื่องทุกเมืองมุม

อกตํ ทุกฺกฏํ เสยฺโย
(ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า)
อันความชั่วได้แก่ตัวทุจริต
มันทำจิตใจให้ทรามตามกระแส
ทั้งชาตินี้ชาติหน้าทุกขาแล
ควรทำแต่ความดีเป็นศรีตน

สตี มโต สทา ภทฺทํ
(คนผู้มีสติมีความเจริญทุกเมื่อ)
คนผู้ใดใครมีสติมั่น
ก็เหมือนกั้นความชั่วตัวไถล
จะประกอบกิจการงานอันใด
ก็ย่อมได้ความเจริญเพลินทุกกาล



ทุกฺโข พาเลหิ สงฺคโม
(สมาคมกับคนพาลนำทุกข์มาให้)
สมาคมคบหากับคนพาล
แม้ไม่นานน้อยหนึ่งพึงเห็นผล
คือนำทุกข์มาให้ใส่กมล
เกิดเป็นคนควรหลีกหลบคบพาลา

ปฏิมํเสตมตฺตนา
(จงพิจารณาตนด้วยตนเอง)
จงพิจารณาตนเองให้เกรงบาป
ละกรรมหยาบได้บ้างหรือยังขม
คุณความดีคงทนหรือวนจม
ที่สั่งสมเอาไว้ให้พิจารณ์

มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ
(ความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ)
รู้จักประมาณคือรู้กาลที่พอดี
เช่นทรัพย์มีน้อยแต่ก็ค่อยใช้
ถ้ามีน้อยใช้มากจะยากใจ
ทำอะไรรู้ประมาณงานก็ดี

ปูชโก ลภเต ปูชํ
(ผู้บูชาย่อมได้รับบูชา)
แม้นผู้ใดบูชาด้วยอามิส
หรือด้วยคิดแนะธรรมจำเริญศรี
ผู้ได้รับก็มีจิตคิดยินดี
เกิดอารีอารอบตอบแทนกัน

สจฺเจนาลิกวาทินํ
(พึงชนะคนพูดปดด้วยคำพูดจริง)
ของทุกสิ่งหนีความจริงไปไม่พ้น
ก็เมื่อคนพูดจริงเหมือนยิ่งหนุน
ส่วนคำปดมุสาไร้ค่าคุณ
จริงเป็นบุญเท็จเป็นบาป
ปราบกันลง

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ
(คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร)
แม้นผู้ใดใครทั้งปวงจะล่วงทุกข์
จะพบสุขแสนประเสริฐอันเลิศล้ำ
เพราะความเพียรดอกหนา
พาพ้นกรรม
จึงพบธรรมสัมมาค่าที่เพียร

นิสมฺม กรณํ เสยฺโย
(ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำดีกว่า)
จะทำการงานใดใคร่ครวญก่อน
รู้จักผ่อนจำเพาะให้เหมาะเหม็ง
ย่อมมีผลสมภารกับงานเอง
ถ้ารีบเร่งไม่ใคร่ครวญชวนให้เลว

ปฏิรูปการี ธุรวาอุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ
(คนมีธุระหมั่นทำการงานให้
เหมาะเจาะย่อมหาทรัพย์ได้)
แม้นผู้ใดมีธุระประกอบกิจ
ใจก็คิดแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยน
ทำการงานให้เหมาะเจาะจำเนียร
ผลการเพียรย่อม
ได้ทรัพย์ไม่อับจน

อตฺตานํ นาติวตฺเตยฺย
(บุคคลไม่ควรลืมตนเสีย)
คนลืมตนก็คือคนลืมภาระ
หลงกาละขณะทำกรรมเหตุผล
ลืมเป็นโทษทุกขาทั่วหน้าชน
ไม่ลืมตนผลก็ดีสุขีใจ

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
(ตนแลเป็นที่พึ่งของตน)
พึ่งคนอื่นชื่นใจเป็นบางครั้ง
ไม่เหมือนดั่งพึ่งตนผลฉวี
พึ่งเขาได้ก็เพราะเราทำความดี
ตนเป็นศรีของตนผลจึงตาม

สจฺเจน กิตฺตึ ปปฺโปติ
(คนได้เกียรติเพราะความสัตย์)
เป็นมนุษย์สุดดีที่คำพูด
จะเน่าบูดเพราะพูดเท็จเกล็ดไม่ทิ้ง
ถ้ารักษาคำสัตย์นัดประวิง
เกียรติจะยิ่งยืนนานทุกกาลแล

:b8::b8::b8:

นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
(ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง)
การหวังสิ่งใดยังไม่มาถึง
เช่นหวังพึ่งโชคลอยคอยเสวย
ทำให้ใจปรวนแปรไม่แน่เลย
ผลที่เคยได้รับก็กลับกลาย

ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกฏํ
(ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง)
ทุจริตสามได้นามว่าความชั่ว
ถ้าใครมั่วหลงทำช้ำทุกหน
จะยืนเดินนั่งนอนร้อนกมล
ต่างแต่ผลเร็วหรือช้ามาแน่นอน

สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
(รสพระธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง)
อันรสอื่นหมื่นแสนแดนมนุษย์
ชั้นที่สุดรสทิพย์สุธาหาร
อร่อยรสชั่วครู่ไม่อยู่นาน
ตลอดกาลแต่รสธรรมประจำใจ

ภตฺตา ปญฺญานมิตฺถิยา
(สามีเป็นเครื่องปรากฏของสตรี)
อันสามีดีหรือชั่วทั่วทั้งหมด
ย่อมเป็นเครื่องปรากฏบทเฉลย
ของสตรีภริยาทุกคราเอย
คนชมเชยหรือนินทาก็สามี

น สนฺถวํ กาปุริเสน กยิรา
(ไม่ควรทำความสนิทสนมกับคนชั่ว)
คบคนชั่วพาตัวให้มัวหมอง
ขาดญาณตรองตามสติดำริตรึก
จะพาตัวชั่วเลวลงเหวลึก
ไม่ควรฝึกสนิทสนมนิยมเลย

กมฺมุนา วตฺตตี โลโก
(สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม)
อันสัตว์โลกจะโชคดีหรือมีชั่ว
กรรมของตัวการกระทำจะนำไป
มีลาภยศสรรเสริญเจริญใจ
หรือเสื่อมไซร้แล้วแต่กรรมที่ทำเอง

วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ
(ผู้ไหว้ย่อมได้รับไหว้ตอบ)
ผู้ไหว้ย่อมได้รับไหว้ตอบ
ตามระบอบที่เราทำผลกรรมนั้นเช่นปลูกกล้วยได้กล้วย
เป็นด้วยพันธุ์
รสจะมันหรือหวานเพราะพันธุ์เดิม

จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี
(ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต)
สภาพจิตคิดแยกแตกสาขา
หากไม่รู้รักษาไร้ค่าผล
รักษาดีหนีชั่วไม่กลั้วปน
ปัญญาชนพึงรักษาค่าจึงควร

ไม่มีความคิดเห็น: